กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยและระบบบริหารจัดการความปลอดภัยของอาหารระดับจังหวัดซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558ที่ผ่านมาว่าเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค พยาธิ โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง สารเคมีต่างๆ และการปนเปื้อนจากสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่แหล่งผลิต แหล่งประกอบ แปรรูป โรงงาน แหล่งจำหน่าย และแหล่งบริการต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นสาเหตุที่ทำให้ มีอัตราการป่วยโดยโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงสูง มีอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งสูงสุด ทำให้ประเทศไทยสูญเสียค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพและการป้องกัน ปีละ 1 แสนล้านบาท ส่งผลต่อระบบการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนั้นทุกรัฐบาลให้ความสำคัญและ บรรจุเป็นนโยบายในลำดับต้นๆ
ในปี พ.ศ. 2558 นี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพด้านบริการสาธารณสุขและสุขภาพประชาชน เน้นการจัดระบบบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีมติเร่งรัดการดำเนินงานในเรื่องโภชนาการและอาหารปลอดภัยใน 6 ประเด็นคือ 1.น้ำดื่มและน้ำแข็ง 2.นมโรงเรียน 3.ผักและผลไม้ 4.เนื้อหมูและไก่ 5.เกลือไอโอดีน และ 6.การควบคุมสถานประกอบการค้าอาหาร ซึ่งได้มอบหมายให้ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) ดำเนินการ "โครงการพัฒนาต้นแบบบูรณาการระบบบริหารจัดการความปลอดภัยอาหารระดับจังหวัด ปีงบประมาณ 2558" เพื่อร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่สร้างต้นแบบอาหารปลอดภัยระดับจังหวัด ปี 2558 นี้มีเป้าหมายที่จะนำร่องพัฒนาต้นแบบจังหวัดอาหารปลอดภัยใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ระนอง เชียงราย และสระบุรี ส่วนอีก 72 จังหวัดที่เหลือให้มีแนวทางการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันสามารถพัฒนานำไปสู่การประเมินความสำเร็จของระบบคุณภาพตามเกณฑ์ของกฎอนามัยระหว่างประเทศด้านอาหารปลอดภัย (International Health Regulation : IHR, 2005) และทำให้เกิดการบูรณาการจัดการระบบงานอาหารปลอดภัยในระดับจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม
นายธนชีพ พีระธรณิศร์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.)เปิดเผยว่า จากรายงานทางระบาดวิทยา เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อพบว่ายังมีอุบัติการณ์ของโรคสูง ในแต่ละปีพบผู้ป่วยมากกว่า 1 ล้านคน ปีพ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,241,416 ราย โรคอุจจาระร่วงพบผู้ป่วยมากสุด 1,106,900 ราย เสียชีวิต 8 ราย รองลงมาคือโรคอาหารเป็นพิษ? 134,516 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมถึงโรคที่เกิดจากการบริโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น โรคเบาหวาน ความดันอีกจำนวนมาก ในขณะที่เขตสุขภาพที่ 8 ของกระทรวงสาธารณสุข อุดรธานีเป็นจังหวัดหนึ่งที่พบอัตราการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษสูงถ้าเทียบกับระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือระดับประเทศ
จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นจังหวัดแรกในการนำร่องพัฒนาให้เป็นจังหวัดต้นแบบอาหารปลอดภัย ภายใต้ "โครงการพัฒนาต้นแบบบูรณาการระบบบริหารจัดการความปลอดภัยอาหารระดับจังหวัด ปีงบประมาณ 2558 " เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมาก และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคอีสานตอนบน รวมถึงการติดต่อกับประเทศลาว เวียดนาม ในการส่งออกและนำเข้าอาหาร สสอป.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยของประเทศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบอาหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งนอกและในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้จังหวัดอุดรธานีมีการพัฒนาระบบบริการด้านอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานตลอดห่วงโซ่อาหาร ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ ได้ทำการปรับปรุงและพิมพ์คู่มือเกณฑ์และกระบวนการมาตรฐาน(SOP) ให้จังหวัดอุดรธานีได้นำไปเป็นแนวทางการจัดการคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารของจังหวัด ตลอดจนการตรวจติดตามประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาจังหวัดต้นแบบอาหารปลอดภัยเพื่อรองรับระบบงานอาหารปลอดภัยของจังหวัดอุดรธานีตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ
ด้าน นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาหารมาอย่างต่อเนื่องและในปี 2558 นี้ เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาล ด้านโภชนาการและอาหารปลอดภัย เน้นการควบคุมคุณภาพอาหารในสถานประกอบการอาหารที่มีระบบคุณภาพมาตรฐาน เพื่อลดการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากอาหารและน้ำ โดยดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาด้านความปลอดภัยอาหาร ได้แก่ เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด ฯลฯ บูรณาการการทำงานร่วมกัน พัฒนาทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร(From Farm To Table) เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ประกอบการอาหารที่มุ่งเน้นการผลิตอาหารปลอดภัยไปสู่ผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบวัตถุดิบปลอดภัยที่แปลงปลูก การเลือก ใช้สินค้า Q การปรุงประกอบอาหาร และการจัดเก็บวัตถุดิบในการผลิตที่ถูกหลักการสุขาภิบาลอาหาร ตลอดจนภาชนะบรรจุ/วัสดุสัมผัสอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ครอบคลุมร้านอาหาร แผงลอย ตลาดสด ตลาดนัด รวมทั้งการจัดอาหารในโรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยอาหารที่ยกระดับได้ตามเกณฑ์มาตรฐานสามารถเป็นต้นแบบได้ เช่น แหนมเนือง และนมโรงเรียน ซึ่งมีระบบคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ภายใต้ระบบคุณภาพอาหารปลอดภัยจังหวัด (Procedure of Provincial Food Safety Quality System)
การพัฒนาจังหวัดอุดรธานีสู่การเป็นจังหวัดต้นแบบอาหารปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการสื่อสารให้ประชาชน หน่วยงาน ผู้ประกอบการ สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ตระหนักและมีส่วนร่วม ทั้งนี้เชื่อว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดอุดร และจังหวัดอื่นๆที่เข้าร่วมโครงการฯได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ลดการสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะสามารถสานต่อนโยบายอาหารปลอดภัย ครัวไทยสู่โลก รองรับประชาคมอาเซียนให้สำเร็จลุล่วงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้