กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินหน้าเสริมศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยให้สามารถบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มความเชี่ยวชาญการทำการตลาดต่างประเทศ โดยเน้นสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าก่อนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) และอาเซียน +3รุกนำทัพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปภาคตะวันออกเดินทางไปศึกษาข้อมูลการค้า การลงทุน การเชื่อมโยงธุรกิจ และแสวงหาโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ๆในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ (15th International Food Exhibition) ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนหลังชาวแดนมังกรนิยมบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยถึง 442,349 ตัน คิดเป็นมูลค่า 389.51 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุดพร้อมแนะผู้ประกอบการผลไม้ไทยแปรรูปใช้โอกาสทองข้างต้น เร่งพัฒนาต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์เจาะตลาดจีน ตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประกอบกับผลพวงจากมูลค่าหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านคนซึ่งเชื่อว่าหากสามารถตีตลาดจีนได้ประสบผลสำเร็จ จะสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงมอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9ซึ่งรับผิดชอบพัฒนาผู้ประกอบการในเขตภาคตะวันออก เร่งดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้สามารถบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มความเชี่ยวชาญการทำการตลาดต่างประเทศ โดยคัดเลือกตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป จำนวน 10 ราย เดินทางไปศึกษาข้อมูลการค้า การลงทุน และแสวงหาโอกาสเชื่อมโยงธุรกิจในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ (15th International Food Exhibition) ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปไปเปิดตลาดในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศยังถือเป็นการฝึกปฏิบัติและเรียนรู้ยุทธวิธีทางการตลาด เตรียมพร้อมก่อนการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบในปี 2559
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยผลสำรวจความมั่งคั่งของโลกในปี 2558 พบว่า ผลพวงจากมูลค่าหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ในปี 2557 เกิดเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน (ที่มา :สำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว) จีนจึงถือเป็นตลาดส่งออกที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะสินค้าและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผลไม้ ซึ่งในระยะหลังพบว่าชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้ไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่า มีการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยสูงถึง 442,349 ตัน คิดเป็นมูลค่า 389.51 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ทั้งนี้ ไม่เพียงการส่งออกในรูปแบบของผลไม้สดเพียงเท่านั้น ที่เป็นที่ต้องการและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีแต่ยังถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการผลไม้แปรรูปด้วยเช่นกัน โดยหากสามารถพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์เข้าไปตีตลาดจีนได้เป็นผลสำเร็จ เชื่อว่าในภาพรวมก็จะสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายและทำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้น
นางปวีณา วิถีธรรม เจ้าของบริษัท พี.พี.เอฟ.ฟู๊ดส์แอนด์โพรเสส จำกัด กล่าวว่า การเดินทางไปศึกษาข้อมูลการค้า การลงทุน และแสวงหาโอกาสในการเชื่อมโยงธุรกิจ ในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นครั้งแรกที่ทางบริษัทได้นำสินค้าไปจัดแสดงและทดลองตลาดในต่างประเทศ โดยสินค้าที่นำไปให้ผู้ประกอบการชาวจีนและผู้เข้าร่วมงานจากชาติอื่นๆ ทดลองชิม คือ "ท๊อฟฟี่ทุเรียน"ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากกระบวนการแปรรูปทุเรียน ผลิตออกมาวางจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2545 แต่ในระยะหลังที่ผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนเป็นที่นิยมของคนจีนมากขึ้น จึงมองว่าการนำสินค้าแปรรูปจากทุเรียนเข้าไปทดลองตลาด รวมทั้งการเจรจาธุรกิจเพื่อเปิดตลาดใหม่ในประเทศจีนน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่สามารถช่วยสร้างรายได้ได้มากขึ้น ซึ่งผลตอบรับในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะผู้ประกอบการในประเทศจีนได้ติดต่อให้ทางบริษัททำเอกสารเสนอราคาส่งไปอีกครั้งหนึ่ง โดยสินค้าที่สนใจนำเข้าไปวางขายนั้น นอกจากท๊อฟฟี่ทุเรียนก็ยังมีท๊อฟฟี่รสกะทิและท๊อฟฟี่ถั่วด้วย คาดว่าการส่งท๊อฟฟี่ทั้ง 3 รส ไปขายในประเทศจีนจะสามารถทำรายได้เข้าสู่บริษัทเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว
ด้าน นายอุกฤษณ์ วงศ์ทองสาลี เจ้าของร้านจันทรโภชนา กล่าวว่า การได้เดินทางไปศึกษาตลาดและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในประเทศจีน กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในครั้งนี้ ทำให้ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ และเข้าใจตลาดในประเทศจีนมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทางร้านได้นำไปให้ผู้ประกอบการชาวจีนและผู้ร่วมงานทดลองชิม คือ"ทุเรียนเชื่อม"โดยผลตอบรับที่ได้ทำให้ทราบว่าแม้คนจีนจะชอบกินทุเรียนมาก แต่ทุเรียนที่นำมาทำทุเรียนเชื่อมนั้นไม่สุกมาก ผิวสัมผัสจึงคล้ายๆ กับมันเชื่อม คนจีนจึงไม่ค่อยชื่นชอบมากนัก เพราะไม่คุ้นเคยกับการกินทุเรียนในลักษณะนี้ เนื่องจากชอบกินแบบสุกงอมจนเกือบเละแล้วมีกลิ่นแรงมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประชากรในประเทศจีนมีจำนวนมาก และมีหลากหลายกลุ่มชั้นซึ่งมีรายได้และลักษณะการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงยังคงมองว่าการผลิตสินค้าแปรรูปทางการเกษตรไม่เฉพาะทุเรียน แต่ยังรวมไปถึงลำไย มังคุด และมะม่วง ยังคงมีโอกาสเติบโตอีกมากหากสามารถทำได้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคในประเทศจีน
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr