กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในฐานะโฆษกสำนักงานบริหาร หนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวการดำเนินงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดังนี้
1. รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2558
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 พฤษภาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,687,007.62 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.58 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 88,702.91 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
· หนี้ของรัฐบาลลดลง 73,893.27 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
- การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 24,000 ล้านบาท
- การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 1,921.11 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อ จำนวน 1,804.62 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รถไฟสายสีแดง และโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย
- กรมทางหลวงเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อให้ใช้ในโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) จำนวน 82.59 ล้านบาท
- กรมทางหลวงชนบทเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อ ใช้ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 จำนวน 33.90 ล้านบาท
- การนำเงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 60,000 ล้านบาท ไปชำระคืนหนี้พันธบัตรรัฐบาลภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ ที่ครบกำหนด
- การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 20,450 ล้านบาท
- การชำระคืนหนี้ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ จำนวน 16,336.80 ล้านบาท
- การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 516.67 ล้านบาท
· หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน มียอดหนี้คงค้างลดลง 9,289.46 ล้านบาท เนื่องจาก รัฐวิสาหกิจต่างๆ มีการชำระคืนต้นเงินกู้มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2558 มีการกู้เงินเพื่อลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อซื้อหัวรถจักร 20 คัน 20 ตัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย การกู้เงินเพื่อลงทุนใน 4 โครงการ ของการประปาส่วนภูมิภาค การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
· หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 4,621.76 ล้านบาท เนื่องจากรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีการชำระคืนต้นเงินกู้มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีรายการที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชำระหนี้เงินต้นที่กู้มาเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยใช้เงินจากการระบายข้าว จำนวน 3,588.60 ล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด 1,000 ล้านบาท
· หน่วยงานของรัฐ มียอดหนี้คงค้างลดลง 898.42 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานธนานุเคราะห์ และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อน มีการชำระคืนต้นเงินกู้มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 เท่ากับ 5,687,007.62 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 5,353,021.23 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 94.13 และหนี้ต่างประเทศ 333,986.39 ล้านบาท (ประมาณ 9,920.85 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 5.87 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และหากเปรียบเทียบกับ เงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 158,518.37 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ 29 พฤษภาคม 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.25 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ
โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,538,910.47 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.40 และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 148,097.15 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.60
2. รายงานผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ประจำเดือนพฤษภาคม 2558
สบน. มีการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ วงเงินรวม 115,294.64 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล จำนวน 103,891.88 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 11,402.76 ล้านบาท
การบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 103,891.88 ล้านบาท ประกอบด้วย
· ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐบาล จำนวน 25,137.60 ล้านบาท
- การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 3 รุ่น อายุ 15 ปี30 ปี และ 50 ปี จำนวน 20,000 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.53 ต่อปี และออกพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นอายุ 3 ปี จำนวน 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี
- การเบิกจ่ายเงินกู้ให้กู้ต่อ จำนวน 1,137.60 ล้านบาท
· การเบิกจ่ายเงินกู้จากต่างประเทศของรัฐบาล จำนวน 783.51 ล้านบาท ประกอบด้วยการเบิกจ่ายเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย จำนวน 82.59 ล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง และการเบิกจ่ายเงินกู้จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น จำนวน 700.92 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนน
นนทบุรี 1 ของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 33.90 ล้านบาท และโครงการรถไฟสายสีแดงของการรถไฟ แห่งประเทศไทย จำนวน 667.02 ล้านบาท
· การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาล จำนวน 23,000 ล้านบาท
- การปรับโครงสร้างหนี้ R-bill ที่ครบกำหนด ซึ่งออกภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ทั้งจำนวน
- การปรับโครงสร้างหนี้ที่ออกภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 13,000 ล้านบาท เพื่อ (1) ปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 3,000 ล้านบาท (2) คืนเงินทดรองจ่ายจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (Premium FIDF 1) จำนวน 10,000 ล้านบาท
· การชำระหนี้ของรัฐบาล จำนวน 54,970.77 ล้านบาท แบ่งเป็น
- การชำระหนี้โดยใช้เงินจากงบประมาณ จำนวน 21,942.83 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระต้นเงิน 19,089.87 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 2,852.92 ล้านบาท
- การชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนด ซึ่งออกภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 36.80 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีเงินกู้เพื่อการบริหารหนี้
- การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) จำนวน 24,487.21 ล้านบาท แบ่งเป็น ชำระต้นเงิน 22,644.87 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย จำนวน 1,842.34 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
- การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 3) จำนวน 8,220.93 ล้านบาท แบ่งเป็น การชำระต้นเงิน จำนวน 7,805.13 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย จำนวน 415.80 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
- การชำระต้นเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 175 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- การชำระหนี้ต้นเงินกู้ล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้ที่รัฐบาลให้กู้ต่อ จำนวน 108 ล้านบาท บาท โดยใช้เงินงบประมาณที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
การบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 11,402.76 ล้านบาท ประกอบด้วย
· การกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4,100 ล้านบาท โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการประปาส่วนภูมิภาค กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ
· การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 9.76 ล้านบาท โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เบิกจ่ายเงินกู้เพื่อจัดทำโครงการรถไฟสายสีม่วง
· การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,293 ล้านบาท ประกอบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 2,800 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 4,493 ล้านบาท