กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เป็นผลจากสถานการณ์ต่างประเทศเป็น ปัจจัยเชิงลบ ที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น แต่ดัชนียังคงอยู่ในช่วงทรงตัว (Neutral)
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีต่อระดับดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า "ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย" อันเนื่องมาจากนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก และสถานการณ์ต่างประเทศก็เป็นปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น ส่งผลให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงทรงตัว (Neutral)
· นักลงทุนคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน) อยู่ที่ 98.28 (ช่วงค่าดัชนี 0 - 200)เพิ่มขึ้น 11.48% จากดัชนีเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 88.16 โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันว่าตลาดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในช่วงทรงตัว
· เมื่อพิจารณารายกลุ่มแล้ว พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อย กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนสถาบันในประเทศ อยู่ในช่วงทรงตัว (Neutral) แต่ของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศอยู่ในช่วงซบเซา(Bearish)
· กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีความเชื่อมั่นต่อทิศทางตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนสูงสุด แต่ยังอยู่ในช่วงทรงตัว (Neutral) ในขณะที่นักลงทุนสถาบันต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางตลาดหุ้นลดลงมากที่สุดจนอยู่ในช่วงซบเซา
· หมวดอุตสาหกรรม ที่น่าลงทุน มากที่สุด คือ หมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS)
· หมวดอุตสาหกรรม ที่ไม่น่าลงทุน มากที่สุด คือ หมวดอุตสาหกรรมเหล็ก (STEEL)
· ปัจจัยเชิงบวก ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ
· ปัจจัยเชิงลบ ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ สถานการณ์ต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนในครั้งนี้ พบว่ายังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดัชนีดาวโจนส์ การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หนี้เสียในกลุ่มประเทศยูโรโซน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน และการแพร่ระบาดของโรคเมอร์ส (MERS) เป็นต้น
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์ในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศยังคงเปราะบางก็ตาม แต่ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 จะขยายตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่าปัจจัยด้านการส่งออกของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จากสหรัฐฯอีกครั้ง รวมถึงสถานการณ์การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับราคาส่งออกข้าวและยางพาราในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยจากการลงทุนของภาครัฐที่จะทยอยเข้าสู่ระบบมากขึ้นตามลำดับ ปัจจัยดังกล่าวจะมีบทบาทอย่างมากที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลัง อีกทั้งช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน และช่วยชดเชยภาคการบริโภคที่อาจจะยังขยายตัวอย่างเชื่องช้า
ด้านสถาณการณ์ต่างประเทศนั้น เชื่อว่าผลกระทบจากวิกฤติหนี้ของกรีซต่อตลาดการเงินไทยค่อนข้างน้อย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังมีโอกาสขยายตัวสูงขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4-4.5 เมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ3.3
สอบถามข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย โทร 02 229 2902-3 หรือ Email:fetco@set.or.th