กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมศุลกากรแก้ไขระเบียบปฏิบัติการยกเว้นอากรของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำเข้ามา พร้อมกับตนทางอากาศยาน จากเดิม 10,000 บาท เป็น 20,000 บาท เพื่อความเหมาะสม และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงินในปัจจุบัน เริ่ม วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 นี้
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่กรมศุลกากรได้มีการกำหนด ให้ยกเว้นอากรสำหรับของส่วนตัวที่นำเข้ามาพร้อมกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ที่มีมูลค่ารวมไม่เกิน 10,000 บาท นั้น เนื่องจากมูลค่าเงินในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง การที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรนำของส่วนตัวเข้ามา จึงมักจะประสบกับปัญหาของที่นำของส่วนตัวเข้ามามีมูลค่าเกินกว่าที่ได้รับยกเว้นอากร ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดราคาของที่ได้รับยกเว้นอากรดังกล่าวมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงินดังกล่าว กรมศุลกากรจึงปรับวงเงินในการยกเว้นอากรของส่วนตัวที่ผู้เดินทางจากต่างประเทศนำเข้ามาพร้อมกับตนจากเดิม 10,000 บาท เป็น 20,000 บาท ซึ่งเท่ากับกรณีผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อจากร้านค้าปลอดอากรขาเข้าที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร โดยมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับบุหรี่ หรือซิการ์ หรือยาเส้น ซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำเข้ามาพร้อมกับตน ให้ได้รับยกเว้นอากรต่อเมื่อบุหรี่มีปริมาณไม่เกิน 200 มวน หรือซิการ์ หรือยาเส้น อย่างละไม่เกิน 250กรัม หรือหลายชนิดรวมกันมีน้ำหนักทั้งหมดไม่เกิน 250 กรัม ส่วนสุราต้องมีปริมาณไม่เกิน 1 ลิตร
ปัจจุบันกรมศุลกากรได้จัดให้มีช่องสำหรับปฏิบัติพิธีการศุลกากรแก่ผู้โดยสารขาเข้า ณ ท่าอากาศยานนานาชาติตามมาตรฐานสากลไว้ 2 ช่องทาง ได้แก่ ช่องตรวจเขียว สำหรับผู้โดยสารที่ไม่มีของต้องเสียภาษีอากร โดยของส่วนตัวที่นำเข้ามามีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท และช่องตรวจแดง สำหรับผู้โดยสารที่มีของต้องเสียภาษีอากรหรือไม่แน่ใจว่าต้องเสียภาษีอากรและของต้องห้ามและของต้องจำกัด ซึ่งหมายถึง ของที่ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศโดยมิได้ทำการตรวจสัมภาระของผู้โดยสารทุกคน แต่จะสุ่มตรวจตามหลักปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล ฉะนั้น การปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพิธีการทางศุลกากรจึงถือเป็นหน้าที่ที่ผู้โดยสารทุกคนควรตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กรณีมีของที่ต้องสำแดงแต่หลีกเลี่ยงไม่สำแดง ขณะผ่านจุดตรวจไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบจะถือเป็นความผิด โดยปรับ 4 เท่าของมูลค่าของบวกค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และของที่มีการตรวจพบความผิดจะถูกริบเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากรทันที