กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับกากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก 10 ปีข้างหน้า โดยกำหนดแผนการทำงานเป็น 3 ระยะ ในการประเมินสถานภาพและประสิทธิภาพของโรงงานรับบำบัด/ กำจัด/ รีไซเคิลกาก ในปัจจุบัน อีก 5 ปี และ 10 ปีข้างหน้าว่าเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ที่ว่าพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เหมาะสมควรมีกี่แห่งและตั้งอยู่ที่ใด ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) จากผลการศึกษาในระยะที่ 1 หรือปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยควรจะต้องมีพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สำหรับกากอันตราย พบว่า จังหวัดที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ได้แก่ นครราชสีมา ลำพูน ระยอง ปราจีนบุรี ปทุมธานี อยุธยา และ อ่างทอง สำหรับกากไม่อันตราย พบว่า จังหวัดที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมฯ ได้แก่ ลำปาง และ ระยอง
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมกรมโรงงานอุตสาหกรรม 02-202-4168
ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในระยะที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลบรรจุประเด็นการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากไว้เป็นวาระแห่งชาติ ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 5 แสนล้านบาทอย่างต่อเนื่อง อันจะก่อให้เกิดกากจากอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล ซึ่งปริมาณกากอุตสาหกรรมในแต่ละปีที่ประเมินจากแรงม้าเครื่องจักร คาดว่ามีปริมาณกากอันตรายประมาณ 3 ล้านตัน กากไม่อันตราย 50 ล้านตัน รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศึกษาและจัดหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับปริมาณกากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น 20-30 ปีข้างหน้า เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถวางแผนในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ลดปัญหาการลักลอบทิ้งอันเนื่องมาจากต้นทุนการขนส่ง/การจัดการที่ไม่เป็นภาระจนเกินควรแก่ผู้ประกอบการ
ดร. พสุ กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสมรองรับกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยในระยะ 20-30 ปี ข้างหน้า ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดระยะการศึกษาไว้ 10 ปีเท่านั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ โดยแบ่งแผนการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การประเมินสถานภาพและประสิทธิภาพของโรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าเพียงพอหรือไม่
ระยะที่ 2 ในอนาคตเมื่อโรงงานทยอยเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องไม่น้อยกว่า 90 % ภายใน 5 ปี สถานการณ์ของโรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ระยะที่ 3 ในอีก 10 ปีข้างหน้า พื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมที่ถูกคัดเลือกให้พัฒนาเป็นนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรของประเทศไทย ควรมีกี่แห่งและอยู่ที่ใด
ขณะนี้มีโรงงานเข้าสู่ระบบกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องแล้ว 7 % หรือประมาณ 5,300 โรง จากโรงงานที่มีการแจ้งประกอบกิจการแล้วทั้งหมด 68,000 โรง ซึ่งพบว่ากากอันตรายได้ถูกจัดการเข้าระบบอย่างถูกต้องประมาณ 1 ล้านตัน จากปริมาณกากอันตรายทั้งหมดประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ส่วนกากไม่อันตรายได้ถูกจัดการเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องปีละ 13 ล้านตัน จากปริมาณกากไม่อันตรายทั้งหมด 50 ล้านตัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการไม่ต่อใบอนุญาตโรงงานให้กับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรม ถือเป็นมาตรการที่จะดึงให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90 % ภายใน 5 ปี หรือ พ.ศ. 2562
ปัจจุบันสถานการณ์การกระจายตัวของโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากและโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากทั่วประเทศพบว่ามีสัดส่วนประมาณ 40:1 หากมองในระดับภูมิภาค ภาคตะวันออก มีสัดส่วน 12:1 ภาคกลาง 44:1 ภาคตะวันตก 65:1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 101:1 ภาคเหนือ 102:1 และ สุดท้ายคือภาคใต้ 121:1 พบว่ามีปัญหาเรื่องโรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากไม่เพียงพอมากที่สุด และเพื่อรองรับอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณกากอันตรายปีละ 3 ล้านตัน ไม่อันตรายปีละ 50 ล้านตัน กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้เร่งทำการศึกษาปริมาณของกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด ให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงการศึกษาด้านโลจิสติกส์ของกากอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุดในการวางแผนจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอในอนาคต
ทั้งนี้กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสม โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558 นี้ ในเบื้องต้นผลการศึกษาระยะแรก (บนพื้นฐานของข้อมูลการขนส่งกากปี 2557) พบว่า ประเทศไทยควรจะต้องมีพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออก หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด สำหรับกากอันตราย พบว่า จังหวัดที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ได้แก่ นครราชสีมา ลำพูน ระยอง ปราจีนบุรี ปทุมธานี อยุธยา และ อ่างทอง สำหรับกากไม่อันตราย พบว่า จังหวัดที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมฯ ได้แก่ ลำปาง และ ระยอง
เมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำการศึกษาครบทั้ง 3 ระยะแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำข้อมูลไปพัฒนานิคมจัดการกากอุตาสหกรรมอย่างครบวงจร ซึ่งรูปแบบของการพัฒนามีได้หลายรูปแบบ เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาเอง หรือร่วมมือกับเอกชนที่สนใจในการพัฒนาก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ภาครัฐและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เตรียมมาตรการส่งเสริมให้โรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร จะได้สิทธิประโยชน์สูงสุดทั้งสิทธิประโยชน์ในรูปแบบทางภาษีและไม่ใช่รูปแบบทางภาษี รวมถึงกระทรวงพลังงานเตรียมให้เงินอุดหนุนกับโรงงานรับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจและเตรียมความพร้อมให้กับนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรของไทยในอนาคต ดร. พสุ กล่าวสรุป