กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--BrandNow
การประชุมที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 8-10 กรกฎาคมนี้ มีผู้เข้าร่วมสำคัญๆ ซึ่งเป็นตัวแทนท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ จากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว เนปาล และไทย โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญทางด้านป่าไม้สำหรับในท้องที่ต่างๆ เพื่อจะเตรียมการสำหรับการประชุมและเป็นเสียงสะท้อนไปสู่เวทีป่าไม้ระดับโลกครั้งที่ 14 เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ในเดือนกันยายนนี้
นายเกริก มีมุ่งกิจ เกษตรกรสมาชิกธนาคารต้นไม้ จังหวัดสระแก้ว ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งของการประชุมว่า "หากคุณต้องการให้ประเทศของคุณเป็นสีเขียว เราต้องส่งเสริมพลังของคนท้องถิ่น" คุณเกริกได้กล่าวถึงเรื่องราวการดำเนินชีวิตของเขาว่าเขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับป่าอย่างพอเพียงและได้ใช้ความรู้ที่มีอยู่เพื่อชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้รับการพัฒนาอย่างยืน รวมทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ที่มีต่อชุมชนอีกด้วย
นางสาวเทย่า ชอว์ ชนพื้นเมืองจากหมู่บ้านเปงแนกอน เมืองเลชี ประเทศพม่า ที่ใช้เวลามากกว่า 7 วันในการเดินทางมาเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯครั้งนี้ได้แสดงทัศนคติว่าคนท้องถิ่นมีความสามารถและต้องการที่จะปกป้องป่า โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก แต่ในขณะเดียวกันคนท้องถิ่นก็ต้องมีทรัพยากรในการจัดการเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ในขณะที่ นายเอม โสโพน ตัวแทนจาก Chrous Svay community forest ประเทศกัมพูชาได้กล่าวไว้ด้วยว่าเมื่อเรามีศักยภาพ เราสามารถทำเรื่องต่างๆให้ประสบความสำเร็จได้
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้กำหนด 4 เรื่องที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งผู้มีสิทธิตัดสินใจควรนำไปพิจารณาได้แก่
1. การมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายและระเบียบข้อบังคับ
2. การกำหนดพื้นที่ทำกินและจัดตั้งป่าชุมชน
3. การสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรอื่นๆในการจัดทำป่าชุมชน และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และวิสาหกิจชุมชน
4. การเสริมสร้างศักยภาพต่อผู้นำชุมชน การเข้าถึงข้อมูล และสร้างเครือข่าย
ภายใต้ 4 หัวข้อดังกล่าว ผู้ร่วมประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อปฏิบัติ รวมทั้งการลงทุนในด้านต่างๆเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายในเวทีการประชุมป่าไม้ระดับโลกต่อไป
ในช่วงสุดท้ายของการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงเสียงสนับสนุนเพื่อเลือกตั้งตัวแทน 4 คน เพื่อเข้าร่วมการประชุม World Forestry Congress ในประเทศแอฟริกาใต้ต่อไป
รีคอฟท์ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนพลังชุมชนท้องถิ่นได้จัดการประชุมนี้โดยมีผู้แปลภาษาท้องถิ่น 7 ภาษาด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการประชุมที่มีส่วนร่วมจากท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะโดยทั่วไปการประชุมจะดำเนินโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก