กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๔ ก.ค.๕๘) เวลา ๐๘.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๑๙๘/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีสถานรับเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย ย่านราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯเตรียมยุติบทบาทเพื่อสังคมในเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมียอดบริจาคเข้ามาสนับสนุนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในความดูแลจำนวนทั้งสิ้น ๖๕ คนนั้น ล่าสุดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า สถานที่ดังกล่าวตั้งขึ้นภายใต้ชื่อบ้านครูน้อย (บ้านที่ให้ชีวิตที่ดีแก่เด็กยากไร้) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่ช่วยเหลือได้แก่ เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน ครอบครัวแตกแยก และเด็กพิการ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนที่ดูแลอยู่จำนวน ทั้งสิ้น ๖๕ คน อายุตั้งแต่ ๔-๒๕ ปี ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เตรียมแนวทางในการช่วยเหลือเด็กกรณีดังกล่าว ดังนี้ ให้นักสังคมสงเคราะห์ เข้าไปตรวจเยี่ยมสอบถามข้อเท็จจริง หากกรณีผู้ปกครองยินยอมให้เด็กเข้ารับความช่วยเหลือจากบริการของรัฐ เจ้าหน้าที่จะพิจาณาส่งต่อสถานสงเคราะห์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล แก้ไขปัญหาดังกล่าวตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯอย่างต่อเนื่อง
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติม สำหรับกรณีพบศพเด็กทารกเพศหญิง อายุครรภ์ประมาณ ๗ เดือนถูกทิ้งไว้ในถุงขยะสีดำ บริเวณบ่อพักขยะบนแขวงเกาะล้าน จังหวัดชลบุรีนั้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาเด็กทารกถูกทิ้งรายวันยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และจากข้อมูลสถิติเด็กที่อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน ๘ แห่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ พบว่ามีเด็กถูกทอดทิ้ง ๔๖๕ คน มาจากโรงพยาบาล ๑๑๗ คน จากที่สาธารณะ ๒๐๖ คน จากผู้รับจ้างเลี้ยง ๑๑๐ คน และจากญาติ ๓๒ คน กอปรกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอรายงานเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยล่าสุด พบผู้ป่วยทำแท้งเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีร้อยละ ๒๗.๕ และเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี ร้อยละ ๔๖.๕ ส่วนใหญ่ร้อยละ ๓๐.๘ ยังเป็นนักเรียนนักศึกษาทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
"นอกจากนี้ ตนขอชื่นชมกรณีชายชราอายุ ๗๕ ปี ชาวจังหวัดนครสวรรค์ ที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยยึดอาชีพปั่นสามล้อมานานกว่า ๕๐ ปี มาจนถึงปัจจุบันนั้น ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและยังหารายได้ให้ครอบครัวได้อีกด้วย" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย