กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--วช.
โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะนำมาสู่คนมีหลายโรค เช่น โรคไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง โรคมาลาเรีย ฯลฯ การกำจัดยุงตามแหล่งน้ำหรือบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมักใช้ดีดีทีพ่น แต่กระนั้นก็ดีการพ่นด้วยดีดีทีมักมีสารตกค้างทำลายสภาพแวดล้อม
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม จึงให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ นางวนิดา ดีสิน และคณะ จากภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของมุ้งชุบสาร Permethrin ที่มีต่อยุงพาหะนำไข้มาลาเรีย Anopheles dirus” เพื่อศึกษาการดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลงชนิด Permethrin ในยุงพาหะนำไข้มาลาเรียชนิด Anopheles dirus และศึกษาผลกระทบของมุ้งชุบสารที่มีต่อยุงที่รอดชีวิต ซึ่งในการวิจัยได้ทดลองในห้องปฏิบัติการ
โดยการชุบมุ้งด้วยสาร organophosphate ชนิด permethrin โดยใช้ความเข้มข้นต่างกันพบว่ายุง Anopheles dirus
ที่สัมผัสกับมุ้งชุบยามีแนวโน้มจะดื้อต่อสาร permethrin อย่างไรก็ดีอายุขัยของยุงจะสั้นลง โดยเชื้อมาลาเรียจะพัฒนาได้ประมาณ 2 รอบวงจรเท่านั้น ซึ่งเป็นผลให้เชื้อมาลาเรียลดลง รวมทั้งทำให้ยุงวางไข่ได้น้อยครั้งลงด้วย จึงทำให้ปริมาณยุงลดจำนวนลง
ผู้วิจัยให้ข้อสรุปว่า การติดตามเฝ้าระวังการเกิดดื้อยาในยุงในท้องที่เป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องอันจะเป็นการแก้ปัญหาได้ทันท่วงที--จบ--