กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
วัณโรคยังน่าห่วง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ห่วงใย ชาวใต้ เน้นหนัก 3 เรื่อง คือ ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาเครือข่ายและระบบดูแล เพื่อลดป่วย ลดตาย ลดขาดยาและป้องกันเชื้อดื้อยา โดยมีเป้าหมายลดอัตราผู้ป่วยรายใหม่ มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงชาวต่างชาติ ทุกชาติ ทุกคน ทั้งมีสิทธิการรักษาหรือไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ มีสิทธิ์ที่จะได้รับการตรวจรักษาวัณโรคทุกคนและผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคต้องได้รับการสนับสนุนให้กินยาและรักษาต่อเนื่องจนหายหายขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12จังหวัดสงขลากล่าวว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ พัทลุง ตรัง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การค้นพบผู้ป่วยรายใหม่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยทุกคนร่วมกันค้นหาผู้ป่วยวัณโรคที่ยังเหลืออยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอช ไอ วี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ใช้สารเสพติด บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาให้หายขาด และยังมีปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาทำให้ต้องเสียค่ารักษาสูงกว่าเดิมเป็นร้อยเท่าจากแสนบาทเป็นหลักล้านบาท ขอให้ประชาชนร่วมกันตระหนัก ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันวัณโรค ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้พัฒนาห้องปฏิบัติการชันสูตรของ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ทั้ง 12 แห่งเพื่อตรวจหาเชื้อวัณโรคดื้อยา มีการสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยในชุมชนสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อการรักษา สร้างระบบพี่เลี้ยงการติดตามกำกับการกินยา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาวัณโรคที่ได้ผล นำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดคือเมืองไทยปลอดวัณโรค
วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อย คือ วัณโรคปอด ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจโดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ ในห้องที่ทึบอับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป สำหรับอาการที่สำคัญของผู้ป่วยวัณโรคคือ ไอ ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะหรือไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ มีไข้ต่ำๆตอนบ่ายหรือค่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ส่วนการรักษาปัจจุบันวัณโรครักษาหายได้ด้วยยาที่มีประสิทธิภาพสูงมาก โดยผู้ป่วยต้องกินยาให้ครบอย่างต่อเนื่องตลอดการรักษาเป็นเวลา 6-8เดือน การป้องกันคือการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หาย การรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นและหายจากวัณโรคในที่สุด
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานการณ์วัณโรคในพื้นที่7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553-2557 พบว่ามีการขึ้นทะเบียนรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 3,400-3,700 ราย การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2557 ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีอัตราการค้นหาผู้ป่วยสูงที่สุดได้แก่จังหวัดยะลาร้อยละ 66.9 รองลงมาได้แก่สงขลา ร้อยละ 59.3 นราธิวาส ร้อยละ 57.7 ปัตตานี ร้อยละ 57.6 สตูลและพัทลุงร้อยละ 55.2 และจังหวัดที่มีอัตราค้นหาผู้ป่วยต่ำสุดได้แก่จังหวัดตรังร้อยละ 51.1 ปัญหาที่พบคือยังมีอัตราตายสูงร้อยละ 8.1-9.2 ผู้ป่วยขาดการรักษาร้อยละ 2.8-6.0 ซึ่งจังหวัดที่อัตราขาดยาสูงสุดได้แก่จังหวัดพัทลุง สำหรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ในภาคใต้ตอนล่างพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น พบว่าผู้ป่วยดื้อยาหลักอย่างน้อย 2 ชนิด คือ อโซไนอาซีด และ ไรแฟมปิซิน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 พบผู้ป่วยดื้อยาขึ้นทะเบียนรักษาแล้ว 15 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วย มากที่สุด คือจังหวัดสงขลา5 ราย รองลงมา ได้แก่จังหวัดพัทลุง 4 ราย จังหวัดตรัง 2 ราย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล จังหวัดละ 1 ราย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัณโรคสามารถสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค