กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 6/2558โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เข้าร่วมในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558
โดยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 6/2558 มีดังนี้
1. การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจคนร. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจและได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่มีบริษัทในเครือทบทวนสถานภาพการคงอยู่ของบริษัทในเครือที่มีการจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยให้รายงานผ่านกระทรวงเจ้าสังกัดและนำเสนอ คนร. ทราบภายใน 3 เดือน หากจำเป็นต้องคงอยู่แต่มีผลการดำเนินงานขาดทุนให้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงานด้วย สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุน และกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจได้มีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในสาระสำคัญดังนี้
1) ให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง
2) ปรับปรุงข้อมูลประกอบการขออนุมัติการจัดตั้ง/ร่วมลงทุนในบริษัทในเครือที่มีความรอบคอบและมุ่งหวังผลสำเร็จของบริษัทในเครือ
3) ปรับปรุงระบบกำกับดูแลบริษัทในเครือที่รัดกุมยิ่งขึ้นโดยให้มีการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือต่อ คนร. รวมทั้ง กำหนดให้การส่งพนักงานเข้าไปทำงานในบริษัทในเครือ (Secondment) ให้พนักงานรับค่าตอบแทนทางใดทางหนึ่งเท่านั้น และให้มี
การกำหนดระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน
2. การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจภาพรวมของประเทศคนร. ได้เห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่จะจัดทำขึ้นตามที่ คนร. ได้มอบหมายในคราวประชุมครั้งที่ 4/2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในกฎหมาย
2) กำหนดให้มีแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ
3) กำหนดให้มีระบบกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจ เช่น ระบบสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ ระบบประเมินผลงาน ระบบการเปิดเผยข้อมูล และระบบการแก้ไขรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา
4) กำหนดให้มีการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของเท่านั้น เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดที่มีลักษณะการดำเนินการในเชิงพาณิชย์แทนกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ คนร. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจฯ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้ง หารือกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจไปยังบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ และประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณชนก่อนนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนกันยายน 2558 ต่อไป
3. การอนุมัติเงินกู้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)คนร. ได้เห็นชอบในหลักการให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวนประมาณ 4,952ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้ค่าเชื้อเพลิง 3,194 ล้านบาทและหนี้ค่าเหมาซ่อม 1,758 ล้านบาท และกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 16,759 ล้านบาทประกอบด้วย การไถ่ถอนพันธบัตร/ชำระคืนเงินต้นเงินกู้ที่จะครบกำหนด13,225 ล้านบาท และการชำระค่าดอกเบี้ย 3,534 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป เห็นควรให้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินสำหรับการรักษาสภาพคล่องและชำระค่าเชื้อเพลิง/ค่าเหมาซ่อม (รายรับต่ำกว่ารายจ่าย) ของ ขสมก. แทนการใช้เงินกู้
4. สิทธิประโยชน์คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและเงินบริจาค และการเปิดเผยข้อมูลของรัฐวิสาหกิจตามที่ คนร. ได้มีมติให้รัฐวิสาหกิจปรับลดสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและเงินบริจาค รวมทั้ง กำหนดให้รัฐวิสาหกิจมีการเปิดเผยข้อมูลให้ได้มาตรฐาน โดยในการประชุมครั้งนี้ คนร. ได้ติดตามผลการดำเนินการตามมติ คนร. ดังกล่าว และ คนร. ได้กำชับให้รัฐวิสาหกิจเร่งลดสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและเงินบริจาค และเปิดเผยข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ตามมติ คนร. ภายใน 1 เดือน