กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปนโยบายสาธารณะ ในคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดประชุมระดมข้อคิดเห็นพัฒนาโจทย์วิจัยด้าน Health Literacy หรือความแตกฉานด้านสุขภาพ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยทบทวนสถานการณ์และกลไกการจัดการความแตกฉานด้านสุขภาพ (Health Literacy) ในมิติของความหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างความแตกฉานด้านสุขภาพ กับองค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพ รวมถึงสถานการณ์ในต่างประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาโจทย์การวิจัย และสนับสนุนให้มีการวิจัยในการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบาย โดยมี พล.อ.นพ.ชูศิลป์ คุณาไทย ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปนโยบายสาธารณะ สปช. เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปสาธารณสุข สปช. ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหาร สวรส. เข้าร่วม ที่ห้องประชุมสุปัญญา อาคารสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา
พล.อ.นพ.ชูศิลป์ คุณาไทย ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปนโยบายสาธารณะ สปช. กล่าวว่า การสร้างเสริมและพัฒนาความรอบรู้และการสื่อสารสุขภาพในเชิงระบบ (Health Literacy) จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน คือ การพัฒนาระบบการสาธารณสุข เช่น เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น การพัฒนาระบบการศึกษา ที่จะช่วยยกระดับการรู้หนังสือ รวมถึงให้ความรู้ถึงปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ และการพัฒนาระบบวัฒนธรรมและสังคม ทาง สปช. จึงได้จัดทำร่างนโยบายการปฏิรูปความรอบรู้และการสื่อสารสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อเป็นนโยบายการทำงานภายใต้นโยบายสภาปฏิรูปแห่งชาติและรัฐบาล ที่ต้องการเร่งรัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างสุขภาพที่ดีของคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม
"การผลักดันนโยบายนี้ ได้มอบหมายให้ สวรส. รับผิดชอบในการพัฒนาโจทย์วิจัยเชิงระบบด้าน Health Literacy หรือความแตกฉานด้านสุขภาพ ที่ผ่านมาพบว่า ยังมีช่องว่างทางความรู้เกี่ยวทางด้านสุขภาพอยู่พอสมควร ฉะนั้น นโยบายและแผนดังกล่าว ควรมีการวิจัยและพัฒนาการบริการสื่อสารสุขภาพ คุณภาพระบบการสื่อสาร และระบบสนับสนุนการสื่อสาร หรือโครงสร้างกลไกประสานการสื่อสารกับเนื้อหาของสื่อว่าควรจะเป็นอย่างไร" พล.อ.นพ.ชูศิลป์ กล่าว
ทางด้าน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. ได้ทำการศึกษา "การทบทวนสถานการณ์และกลไกการจัดการความแตกฉานด้านสุขภาพ (Health Literacy)" นำเสนอคำจำกัดความในประเทศไทย ของคำว่า Health Literacy ว่าหมายถึง ความสามารถในการค้นหาเข้าถึง ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้า พบว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักวิชาการในประเทศไทยมีการแปลคำนี้ไว้แตกต่างกันไป เช่น "ความแตกฉานด้านสุขภาพ" หรือ "การรู้เท่าทันด้านสุขภาพ" หรือ "ความรอบรู้ด้านสุขภาพ" หรือ "ความฉลาดทางสุขภาวะ"
"สำหรับในรายงานการวิจัยฉบับนี้ขอใช้คำว่า ความแตกฉานด้านสุขภาพ" นักวิจัย สวรส. กล่าวและอ้างอิงข้อมูลจาก Berkman ND, Sheridan SL, Donahue K, et al. Low literacy and health outcomes: An updated systematic review. Annals of Internal Medicine ว่า ผู้ที่มีระดับความแตกฉานด้านสุขภาพต่ำ จะมีสถิติใช้บริการรักษาฉุกเฉิน และเจ็บป่วยจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าผู้ที่มีระดับความแตกฉานปานกลางถึงสูง เนื่องจากความสามารถในการป้องกันและดูแลตนเองที่ด้อยกว่า และผลพวงที่ตามมาจะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพระดับประเทศ คือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น รวมถึงผลิตภาพลดลงจากการขาดแคลนวัยแรงงาน
"ตัวอย่างของประเทศแคนาดา เมื่อปี 2552 ได้ใช้เงินไปกว่า 8 พันล้านเหรียญหรือคิดเป็น 3-5% ต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับการดูแลประชากรที่มีปัญหาสุขภาพ สถานการณ์นี้สอดคล้องกับประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับค่าใช้จ่ายสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงข้อมูลข่าวสารในการดูแลสุขภาพต่างๆ ในบ้านเราที่แม้ว่าจะเข้าถึงง่ายและมีความหลากหลาย แต่ก็ขาดความน่าเชื่อถือทำให้ไม่รู้ว่าควรจะเชื่อสื่อใด ซึ่งจากบทเรียนของประเทศออสเตรเลีย ที่เริ่มเกิดปัญหาเช่นนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้ทางรัฐบาลกลางต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยจัดกลไกการแตกฉานความรู้ทางด้านสุขภาพ ที่วางรากฐานให้เป็นมาตรการระดับชาติ จนเกิดระบบการประเมินทักษะชีวิตและความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงการตั้งศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพแบบออนไลน์ ภายใต้ชื่อว่า Health In Site เป็นต้น" ผศ.นพ.ธีระ ชี้ถึงปัญหาและสะท้อนบทเรียนการพัฒนานโยบายจากต่างประเทศ
รายงานวิจัยฯ ยังได้การทบทวนวรรณกรรม และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความแตกฉานด้านสุขภาพ กับองค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพตามกรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก 6 ด้าน ได้แก่ กำลังคนด้านสุขภาพ ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระบบบริการสุขภาพ การอภิบาลระบบและภาวะผู้นำ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
ผศ.นพ.ธีระ ได้สรุปสาระสำคัญจากการวรรณกรรมและสะท้อนปัญหาในประเทศไทย เช่น เรื่องความแตกฉานด้านสุขภาพกับกำลังคนด้านสุขภาพ บุคลากรวิชาชีพสุขภาพควรมีความรู้ และทักษะด้านอื่น นอกเหนือไปจากความรู้ด้านสุขภาพ เช่น การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การสนับสนุนทางสังคม ทักษะการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่จำเป็นให้แก่ผู้ป่วย และประชาชน
"บุคลากรทางการแพทย์ บางรายแนะนำการดูแลตนเองของคนไข้หลังการเข้ารับบริการ แต่ไม่ได้ติดตามประเมินต่อเนื่องว่าการให้ความรู้คำแนะนำกับคนไข้ไปแล้วนั้น เกิดประสิทธิผลเพียงใด หรือบางกรณีเจ้าหน้าที่ก็แนะนำคนไข้ โดยใช้คำศัพท์อังกฤษปนไทยตามความเข้าใจของตนเอง ดังนั้นความไม่เข้าใจของคนไข้หรือญาติเมื่อไม่ได้รับการขยายความหรืออธิบายให้เข้าใจจึงเป็นปัญหาของการรับรู้ถึงแนวทางดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี เป็นต้น หรือเรื่องความแตกฉานด้านสุขภาพนั้นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยา วัคซีน และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระบบบริการสุขภาพควรมีกลไกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของประชากรที่มีพื้นฐานความแตกฉานด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน โดยการพัฒนาระบบสุขภาพไม่ควรมุ่งเน้นที่ตัวผู้ป่วยหรือกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมผู้ดูแลหรือครอบครัวด้วย เป็นต้น" ผศ.นพ.ธีระ สรุป
สำหรับหัวข้อวิจัยและพัฒนาที่ประเทศไทยควรพิจารณานั้น ทางทีมวิจัยได้ทำการเสนอโจทย์ให้กับทางผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และทาง สปช. ได้ร่วมกันพิจารณา จำนวน 15 หัวข้อ เช่น เรื่องประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลสุขภาพระหว่างบุคลากรวิชาชีพสุขภาพระดับต่างๆ กับผู้ป่วย ญาติหรือครอบครัวและประชาชน, กลไกที่เหมาะสมในการเฝ้าระวังปัญหาจากภาวะข้อมูลข่าวสารสุขภาพท่วมท้นในสังคมไทย, การพัฒนาต้นแบบสถานพยาบาล หรือชุมชน ที่เสริมสร้างความแตกฉานด้านสุขภาพให้แก่ประชากรในการดูแล หรือจัดการปัญหาสุขภาพเฉพาะเรื่อง, ระบบเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องความแตกฉานด้านสุขภาพในกระบวนการดูแลรักษาโรคที่ต้องการความสม่ำเสมอในการรับประทานยา เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยในเบื้องต้นทาง สปช. จะรวบรวมและพัฒนาหัวข้อการวิจัย พร้อมนำเรื่องดังกล่าวหารือในคณะทำงานเพื่อการผลักดันข้อเสนอสู่การพัฒนานโยบายร่วมกับ สวรส.