กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผู้พิการถือเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยที่สุดในสังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษาและการหางานทำ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเท่าเทียมให้แก่คนพิการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้ดำเนินโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ รุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยได้มีพิธีเปิดโครงการฯขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการสร้างความรู้ความสามารถ จึงเห็นความสำคัญในการช่วยกันพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น การจัดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับคนพิการเกิดความเท่าเทียมขึ้นในสังคมและยังเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับสถานประกอบการปฏิบัติตามตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่าหลังจบโครงการในรุ่นที่1 มีผู้พิการสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสมัครเข้างานยังสถานประกอบการได้คิดเป็นร้อยละ30 จากจำนวนผู้ที่เข้าอบรมทั้งหมด 33 คน ทางมหาวิทยาลัยมีความภูมิใจอย่างมากกับความสำเร็จดังกล่าว เพราะถือเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์และมีความหมายต่อมหาวิทยาลัย
การจัดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานฯในปีนี้ถือเป็นรุ่นที่ 2 มีผู้พิการที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้น 25 คนจากจำนวนผู้สมัครเข้ามากว่า 70 คน ซึ่งเป็นไปตามโควต้าของบริษัทที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ ประกอบด้วย บริษัท ดานิลี่ จำกัด จำนวน 17 คน , บริษัท ศรีไทย มิยากาว่า จำกัด จำนวน 5 คน , บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 2 คน และ บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด จำนวน 1คน รวมเงินสนับสนุนจากผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการฝึกอบรมครั้งนี้กว่า 2.5 ล้านบาท รวมระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ เดือน มิ.ย. – พ.ย. 2558 โดยในปีนี้ยังได้มีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น เชื่อว่า กิจกรรมนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้เข้าร่วมอบรมและผู้ประกอบการที่จะรับผู้พิการที่ผ่านการอบรมจากโครงการเข้าไปทำงานต่อไป
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ได้กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีว่า โครงการนี้ เป็นความตั้งใจที่จะช่วยผู้พิการให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองและเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆในสังคม รวมถึงการใช้ชีวิตในสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งปกติถือเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนพิการ ดังนั้นผู้พิการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการฯ ควรใช้โอกาสให้มาก
ที่สุดในการเรียนรู้และรับความรู้จากหลักสูตรระหว่างเข้ามาฝึกอบรม สำหรับผู้ประกอบการอื่นๆ นั้น นายสนั่น กล่าวว่า การช่วยเหลือคนพิการให้ได้รับการศึกษาเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เขาสามารถทำงานในสถานประกอบการได้โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมนั้น ถือเป็นหน้าที่โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการเพราะมีความต้องการรับคนพิการเข้าทำงานอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือหลายแห่งที่หากยังไม่พร้อมในด้านสถานที่ที่จะรองรับคนพิการเข้าทำงาน ประกอบกับคนพิการยังขาดความรู้ความสามารถตามที่ตลาดต้องการ ดังนั้น การจัดอบรมในหลักสูตรภายใต้โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานฯ นี้ก็เพื่อรองรับกับความต้องการดังกล่าว อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังมีคนพิการอีกจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมสามารถเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกับโครงการได้ โดยจะเตรียมเดินหน้าขยายผลโครงการออกไปให้มากขึ้นในปีถัดไป เพื่อให้สามารถรับคนพิการเข้ามาฝึกอบรมและฝึกงานในโครงการฯ ได้เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่นางสาวอังคณา ชาญธัญการ หรือ ปุ้ม หนึ่งในผู้พิการที่เข้าร่วมอบรมฯ กล่าวว่า "ได้เดินทางมาจากจังหวัดอุทัยธานีเข้ามาสมัครฝึกอบรมในโครงการนี้เพื่อต้องการมาหาอนาคตที่ดีขึ้น หลังจากเลิกรากับสามีและยังไม่มีงานทำ จึงหวังว่า หลังจบหลักสูตรจะนำความรู้ที่ได้รับไปสมัครงานเพื่อหารายได้เลี้ยงลูกๆ เพราะตนเองนั้นจบการศึกษาเพียงชั้นประถม 6 จึงไม่มีความรู้มากนัก การได้รับคัดเลือกเข้าอบรมในโครงการ ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้รู้ โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้รับความรู้เข้ามามากมายจากเดิมที่อยู่บ้านไม่เคยรับหรือรู้อะไรเลย ยอมรับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์มากเพราะทำให้คนพิการกล้าที่จะก้าวออกจากบ้าน ได้รับความรู้ และได้งานทำโดยไม่เป็นภาระให้กับคนอื่นๆ ที่สำคัญ โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้คนพิการจะได้แสดงความสามารถของตนเอง เพราะคนพิการบางคนมีความสามารถแต่ไม่มีโอกาสที่จะออกมาพัฒนาศักยภาพ ซึ่งโครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้คนพิการได้ก้าวออกมาและได้รู้ว่าตนเองนั้นมีตัวตนในสังคม"
เช่นเดียวกับนายธวัชชัย มั่นน้อย หรือโอ กล่าวว่า "แม้ขณะนี้ตนเองกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะดิจิตอลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต แต่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการเพราะต้องการหาสิ่งใหม่ๆ และค้นหาตัวเองว่าจริงๆแล้วตนเองนั้นชอบและถนัดอะไร ซึ่งที่นี่ทำให้เราเรียนรู้ได้หลากหลายวิชามากขึ้น ทำให้เราเปลี่ยนมุมองไปเช่นจากเดิมที่เคยมีอคติกับวิชาการตลาด แต่พอได้มาเรียนรู้ก็รู้สึกว่าการตลาดเป็นเรื่องสนุกและไม่ใช่แค่การขายของ รวมถึงทำให้เราได้รู้ถึงสิทธิของผู้พิการมากขึ้น ที่สำคัญคาดหวังว่าใบประกาศที่ได้รับหลังจบโครงการจะช่วยให้สามารถหางานทำได้ง่ายขึ้น"
ส่วน นางสาวกาญจนา นามะโส หรือ น้องเมย์ ผู้พิการร่างกายอ่อนแรงจากจังหวัดหนองบัวลำพูในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวเสริมว่า อยากให้มีโครงการแบบนี้มากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้กับคนพิการอีกจำนวนมากที่อยู่ตามต่างจังหวัดทั่วประเทศได้รับโอกาสเช่นเดียวกับที่ตนและเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้รับ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก คนพิการสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้ ส่วนผู้ประกอบการอยากให้ผู้ประกอบการเปิดโอกาสให้กับคนพิการได้พิสูจน์ความสามารถ อย่าเพิ่งประเมินค่าความสามารถของคนพิการต่ำ อย่าดูเพียงแค่ภายนอก เพราะคนพิการบางคนแม้ร่างกายจะพิการ แต่สมองดีก็ได้ จึงอยากให้ผู้ประกอบการเปิดกว้างให้โอกาสคนพิการได้ลองทำดูก่อน แต่หากผู้ประกอบการที่ยังไม่มีความพร้อมรับคนพิการเข้าทำงานก็อยากให้ช่วยสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฯเพื่อใช้ในการฝึกอบรมให้ความรู้เพิ่มทักษะแก่คนพิการได้พัฒนาศักยภาพแทนเพื่อคนพิการจะได้รับโอกาสในการเข้าทำงานหรือประกอบอาชีพได้โดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นต่อไป