กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· อิหร่านบรรลุข้อตกลงกับชาติตะวันตกเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์โดยสหรัฐฯ, EU และ UN ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ส่วนอิหร่านต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่มุ่งลดขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ รวมทั้งคงมาตรการห้ามขายอาวุธให้อิหร่านเป็นเวลา 5 ปี และหากอิหร่านละเมิดข้อตกลงมาตรการคว่ำบาตรจะถูกนำมาใช้ใหม่ภายใน 65 วัน อนึ่งข้อตกลงข้างต้นต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐฯภายใน 60 วัน อย่างไรก็ตามกรณีที่สภาไม่อนุมัติประธานาธิบดี Obama มีสิทธ์ Veto
· กรมศุลกากรของเกาหลีใต้เผยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียในเดือน มิ.ย. 58 ปรับตัวลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 18.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งในเดือน เม.ย. 58 ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียอยู่ในระดับสูงถึง 30.7 ล้านบาร์เรล มากที่สุดในรอบ 15 ปี
· OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบียเดือน มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน231,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน บ่งชี้นโยบายการผลิตน้ำมันที่เน้นการรักษาส่วนแบ่งการตลาด และความต้องการใช้น้ำมันของซาอุดีอาระเบียในเดือนเม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 480,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 2.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน และโรงกลั่น Yanbu (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) เดินเครื่องเต็มที่ในเดือน มิ.ย. 58
· ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)นาง Janet Yellen ออกมาเผยถึงทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อสภาครองเกรสซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นภายในปีนี้ จากสถิติด้านแรงงานที่เติบโตได้ดีรวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เป็นไปตามคาด
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· การเจรจาระหว่างกรีซและเจ้าหนี้บรรลุผล โดยกรีซจะได้รับเงินจาก European Stability Mechanism (ESM)ด้วยวงเงิน 8.6 หมื่นล้านยูโร เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อชำระหนี้ และรัฐสภากรีซได้ลงมติผ่านกฎหมายปฏิรูป อาทิ การปรับขึ้น VAT, การปฏิรูประบบบำนาญ และการโอนทรัพย์สินมีค่าของรัฐบาลมูลค่า 5 หมื่นล้านยูโร ให้องค์กรที่เชื่อถือได้ซึ่งดูแลโดยเจ้าหนี้ต่างชาตินำออกจำหน่ายเพื่อลดภาระหนี้
· Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.ค. 58 ล่าสุด ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น มาอยู่ที่ 638 แท่น
· ตลาดทุนจีนมีเสถียรภาพมากขึ้นเนื่องจากมาตรการควบคุมของทางการจีน อาทิ ระงับการเปิดขายหุ้น IPO ในระยะอันใกล้นี้ หลังจากที่มีบริษัท 28 แห่งระงับแผนการออกหุ้น IPO ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ของจีนเผยว่าจีนจะยังคงใช้กระบวนการอนุมัติเพื่อการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อไป
· General Administration of Customs ของจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศเดือน มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27% อยู่ที่ 7.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณนำเข้าครึ่งแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.59 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.5% ซึ่ง Reuters ประเมินปริมาณนำเข้าเทียบกับความต้องการใช้น้ำมันเข้ากลั่นพบว่าจีนนำเข้าน้ำมันดิบเกินความต้องการใช้จริง 41 ล้านบาร์เรลในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งสันนิษฐานว่าจีนนำน้ำมันดิบส่วนเกินเก็บในคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ (SPR)
· National Bureau of Statistics ของจีนรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 2/58เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.0% คงที่จากไตรมาส 1/58 และ สูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.9%
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นจากจำนวนแท่นผลิตน้ำมันที่หยุดดำเนินการในสหรัฐฯสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น มาอยู่ที่ 638 แท่น และ รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย นายAlexander Novak เห็นว่าอุปทานน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากอิหร่านไม่น่าส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมากนัก แต่เห็นว่าต้นทุนการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่บ่งชี้ทิศทางราคาน้ำมัน และกล่าวว่ามีแผนผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงปีหน้า (ปัจจุบันผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) อนึ่ง นาย Novak มีกำหนดประชุม เพื่อประเมินสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกกับ OPEC Secretary –General นาย Abdullah al-Badri ในวันที่ 30 ก.ค. นี้ ด้านเศรษฐกิจธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เปิดเผยในรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขยายตัวได้ต่อเนื่อง การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังปรับตัวสูงขึ้นทั่วประเทศ จากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นหรือทรงตัวในหลายภาคอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนแสดงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพ ผนวกกับมาตรการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังจะส่งผลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของ IEA และBNP เห็นว่าอิหร่านสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้รวดเร็วเพราะไม่เกิดสงครามในอิหร่านที่ทำลายโครงสร้างพื้นฐานประกอบกับอิหร่านต้องการเงินลงทุนเข้าประเทศอย่างเร่งด่วน ด้านกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.6-58.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 51.1- 55.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.6-58.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงจากบริษัท Essar Oil Ltd. (EOL) ของอินเดียเลื่อนการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Vadinar (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) จากเดือน พ.ค. 58 มาเป็นเดือน ก.ย. 58 ระยะเวลา 1 เดือน ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในหลายภูมิภาคเพิ่มขึ้น อาทิ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.37 ล้านบาร์เรล หรือ 12.9% อยู่ที่ระดับ 12.05 ล้านบาร์เรล, Euroilstock รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของยุโรป เดือน มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.2 ล้านบาร์เรล หรือ 0.1% อยู่ที่ 115.5 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 11 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.3 ล้านบาร์เรล หรือ 2.9 % อยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Petróleos Mexicanos (Pemex) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกแถลงปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย.- ต้น ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 58 ปริมาณ 75,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 445,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากภาวะขาดแคลน สถานีบริการน้ำมันหลายแห่งต้องให้ลูกค้ารอต่อคิวยาว โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 58 นี้ มีการขโมยเจาะท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปถึง 2,813 ครั้ง (ประมาณ 2/3 ของสถิติทั้งปี 57) ขณะที่ Reutersรายงานไต้หวันส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน พ.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อนประมาณ 22 % อยู่ที่ระดับ 2.6 ล้านบาร์เรล เพราะ CPC Corp. ของไต้หวันมีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย RFCC (กำลังการกลั่น 80,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Talin (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นเวลากว่า 2 เดือน ตั้งแต่ช่วงปลาย ส.ค.- ต้น พ.ย. 58 และปิดดำเนินการโรงกลั่น Kaohsiung (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 58 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.6-77.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก Aramco Trading Co. บริษัทลูกของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.001 %Sปริมาณรวม 2.1 ล้านบาร์เรล โดยแบ่งเป็น 3 เที่ยวเรือๆ ละ 700,000 บาร์เรล ส่งมอบ 25, 29, และ 31 ก.ค. 58 ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค.58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.73 ล้านบาร์เรล หรือ 16% อยู่ที่ระดับ 12.5 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 58 และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล หรือ 12.1 % อยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม มีข่าวผู้ค้าส่งออกน้ำมันดีเซลไปฝั่งตะวันตก อาทิ Gunvor ส่งออก น้ำมันดีเซลชนิดUltra-low Sulfur ปริมาณ 680,000 บาร์เรล จากอินเดียไปยังแอฟริกาตะวันตก ปลายเดือนนี้ อีกทั้งมีอุปสงค์จาก Pemex ของเม็กซิโกแถลงนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงเดือน มิ.ย.- ต้น ก.ค. 58 ปริมาณรวมกว่า 1 ล้านตัน (มากกว่า 50% เป็นน้ำมันเบนซิน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งนำเข้ารวม 410,000 ตัน และ Euroilstock รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ของยุโรป เดือน มิ.ย. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 6.5 ล้านบาร์เรล หรือ 1.6 % อยู่ที่ 393.2 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63.6-68.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล