กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--คอร์แอนด์พีค
สมอ. หนุนผู้ประกอบการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้มาตรฐานเป็นแนวทางการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศด้วยมูลค่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยในปี 2557 กว่า 8 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตมากที่สุดในอาเซียน และเป็นอุตสาหกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งผลักดัน เนื่องจากจะมีความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพราะการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เน้นการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยราคาที่เหมาะสม ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศรวมทั้งสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมไทย หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปี 2558 นี้
นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ได้ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์แล้วจำนวนทั้งสิ้น 134 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานทั่วไป 129 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานบังคับ 4 มาตรฐาน ได้แก่ มอก.30-2555 ไนทรัสออกไซด์ทางการแพทย์ มอก.531-2546 ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์เภสัชปราศจากเชื้อ มอก.539-2546 คาร์บอนไดออกไซด์การแพทย์ มอก.540-2555 ออกซิเจนทางการแพทย์ โดยการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่สากลให้การยอมรับ แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการประสบคือขาดแคลนเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน รวมถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือแพทย์ เช่น วิศวกรทางการแพทย์ นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัญหาการส่งออกผลิตภัณฑ์ของไทยไปจำหน่ายต่างประเทศ ปัญหาการแข่งขันด้านราคาจากประเทศคู่แข่ง ผู้ประกอบการไทยต้องส่งออกในราคาสูงเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง อีกปัญหาหนึ่งคือ ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า
สมอ. ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการสัมมนาเรื่อง"มาตรฐานเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ไทยในอาเซียนปี 2015" ขึ้นในวันนี้ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากผู้ประกอบการจะได้รับความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์แล้ว ยังได้ความรู้เรื่องข้อบังคับระดับอาเซียนที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบ และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อปัญหาระหว่างกันเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยต่อไป