กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ควบรวม 3 องค์กรเดิม คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจใหม่ภายใต้ชื่อ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คุมงานยางพาราครบวงจร
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้เกิดรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือ Rubber Authority Of Thailand (RAOT) ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยดำเนินงานในรูปแบบองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้ กยท. เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการยางพาราของประเทศครบวงจรทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด อุตสาหกรรม งานวิจัยและงานวิชาการ รวมถึงการพัฒนาเกษตรกร เตรียมพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางของภูมิภาคอาเซียน และผู้นำตลาดยางในอนาคต
ในช่วงเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ภารกิจของ กยท. ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันยังต้องเตรียมยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราของประเทศ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรใหม่ให้สอดคล้องรับกับนโยบายแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบของรัฐบาล รวม 16 โครงการ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการจัดการกองทุนพัฒนายางพาราของ กยท. โดยมีเป้าหมายจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อ 6 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1.ใช้เพื่อบริหารจัดการองค์กร 10% 2.ใช้สนับสนุนการศึกษาวิจัย ยางพารา 5% 3.ใช้เพื่อส่งเสริมการปลูกแทน 40% 4.ใช้เพื่อส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศพัฒนาระบบตลาดและการขนส่ง และรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพ 35% 5.เป็นสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง 7% 6.ใช้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็ง 3% ซึ่ง กยท. จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่สร้างประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง อุตสาหกรรมยางพารา และเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศด้วย