“Andaman Power” พลิกประวัติศาสตร์ความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาร์ สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในทวายได้สำเร็จ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 21, 2015 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--IR network “Andaman Power” พลิกประวัติศาสตร์ความร่วมมือไทยกับเมียนมาร์ สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในทวายได้สำเร็จ ด้านหัวเรือใหญ่ “อุปกิต ปาจรียางกูร” เผยเฟสแรก 6-20 MW เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าแล้ว ส่วนเฟสต่อไปเตรียมผุดอีก 150-220 MW และ 300 MW ตามลำดับ นายอุปกิต ปาจรียางกูร ประธานกรรมการ บริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด เปิดเผยว่าโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิต 6-20 เมกะวัตต์ (เฟส 1) เป็นความร่วมมือและการลงทุนด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโครงการแรกในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งการเปิดโรงไฟฟ้าในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะช่วยเปิดประตูสู่ประเทศเมียนมาร์ เชื่อมต่อการลงทุนและต่อยอดธุรกิจในด้านอื่นๆ ระหว่างไทยกับเมียนมาร์ในอนาคตอีกด้วย “วันนี้ APU ได้เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติที่เมียนมาร์ ให้เยี่ยมชมกัน โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นการลงทุนด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโครงการแรกในทวาย ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว” นายอุปกิต กล่าว สำหรับการลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวของ APU แบ่งออกเป็นหลายระยะ โดยประกอบด้วยระยะแรกได้แก่ โรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 6-20 เมกะวัตต์ ได้เริ่มเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ระยะต่อไปได้แก่ โรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 150-220 เมกะวัตต์ กำลังจะเริ่มดำเนินการขั้นต้นก่อนการก่อสร้างได้ในเร็วๆนี้ และโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตอีก 300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเกี่ยวกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ที่ทางบริษัทจะเจรจาทำความตกลงกับทางรัฐบาลเมียนมาร์ในปี 2560 “ทวายนอกจากเป็นประตูเชื่อมสองฝั่งซีกโลกแล้วยังเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มอาเซียนในพื้นที่ 4 แสนไร่ ที่มีทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย (Dawei Deep Sea Port) ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์ นอกจากนี้ยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Dewei Special Economic Zone: DSEZ) ซึ่งจะเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคและแหล่งลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มอาเซียนที่จะเอื้อต่อการลงทุนในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจากหลายชาติสนใจเข้ามาลงทุนในเมียนมาร์ ดังนั้นการที่ APU สามารถเซ็นสัญญาและเปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้สำเร็จจะเป็นโอกาสของประเทศไทยและของ APU ที่จะต่อยอดธุรกิจในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกหลายแห่งของรัฐบาลเมียนมาร์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า 1,800 เมกะวัตต์ ที่รัฐบาลเมียนมาร์จะดำเนินการที่ทวายในเร็วๆ นี้” นายอุปกิต กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ