กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--พีอาร์ดีดี
นายสมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้รับการคงอันดับเครดิตสูงสุดภายในประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับอันดับเครดิตที่ “Highest Standards (tha)” ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของการจัดอันดับเครดิตเพื่อบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Scale Asset Manager Rating)
จากการประกาศของฟิทช์ สำหรับการคงอันดับบริษัทจัดการกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ สะท้อนถึงการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีและเป็นที่รู้จักในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย การมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง รวมถึงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ’AA’F1+(tha)’ /แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียวของบริษัท โดยบลจ.ไทยพาณิชย์ ได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาเป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้รับประโยชน์จากการโอนสายงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านการกำกับและควบคุม และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคลากรและทรัพยากรในสายงานดังกล่าว
นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังได้ให้ความสำคัญต่อธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนและให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการปฏิบัติงานและด้านการเงิน ประกอบกับ บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่หลากหลาย ได้แก่ กองตราสารหนี้ กองทุนตราสารทุน กองทุนรวมดัชนี กองทุนที่ลงทุนในตราสารมากกว่า 1 ประเภท กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยบลจ.ไทยพาณิชย์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดของกองทุนส่วนบุคคลมากที่สุด และสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับสาม ซึ่งวัดจากสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ และยังคงเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจกองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย
ขณะเดียวกันฟิทช์มองว่าบลจ.ไทยพาณิชย์มีกรอบนโยบายการบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคลากรและประสบการณ์ คณะกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงของบลจ.ไทยพาณิชย์ และฝ่ายบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานและความเสี่ยงด้านการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงจากปัจจัยตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้เพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการความเสี่ยงให้เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับทางสากลระดับโลก