กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวน 1,203 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 30.7, 37.9 และ 31.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 46.1,14.3,11.7,11.2 และ 16.7 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 81.7 และ 18.3 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2558 ยังคงปรับตัวลดลง เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน จากความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัญหาภัยแล้งที่รุกลามในหลายพื้นที่ ที่กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ผู้ประกอบการต่างระมัดระวังในการประกอบการและการขยายการลงทุน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าการค้าชายแดนยังขยายตัวได้ดี และมีส่วนช่วยพยุงภาคการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 หากภาครัฐสามารถเร่งรัด การใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนการใช้งบประมาณก็จะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือนพฤษภาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนมิถุนายน 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 74.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 74.7 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.6 ลดลงจาก 99.6 ใน เดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 80.9 ลดลงเล็กน้อยจาก 81.0 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.6 เพิ่มขึ้นจาก 96.8 ในเดือนพฤษภาคมโดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 97.2 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 97.9 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมก๊าซ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 103.7 ลดลงจากระดับ 105.6 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมิถุนายน 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภูมิภาค ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 85.9 ลดลงจากระดับ 86.3 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (เนื่องจากสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ผักผลไม้ มันสำปะหลัง ข้าวโพด มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น จากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่วิกฤติภัยแล้งและปริมาณน้ำฝนที่มีน้อย ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกล่าช้า ส่งผลต่อการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า พีซี และสินค้าสำเร็จรูปบางประเภท มียอดขายในประเทศลดลง ขณะที่สินค้าประเภทหัวอ่าน DVD Hard disk มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าในปริมาณสูง) อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์เหล็กแปรรูปโลหะ มียอดการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปลดลง ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดเย็น มียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากลูกค้ามีการชะลอการสั่งซื้อ) ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (ผลิตภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และหลอดพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ชิ้นส่วนพลาสติก มียอดการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้น เนื่องจากคุณภาพและราคาเป็นที่ต้องการของตลาดโลก) ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.9 ลดลงจากระดับ 102.5 ในเดือนพฤษภาคม จากองค์ประกอบดัชนีฯ ที่คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 77.6 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 78.0 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภทไหมพรม เส้นไหมดิบ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์ผ้าขนสัตว์เทียม เส้นไหมดิบ ผ้าไหม มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น, ตุรกี และเกาหลีใต้ ลดลง) หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าประเภทหัตถกรรมฝีมือต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วง low season ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ และของที่ระลึก มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง ลดลง) อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (ผลิตภัณฑ์แผ่นกระเบื้องหลังคา มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างลดลง ขณะที่ผลิตภัณฑ์กระเบื้องไฟเบอร์ กระเบื้องลอนคู่ มียอดการส่งออกไปประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ลดลงเช่นกัน) ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรแปรรูปต่างๆ มียอดการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสสมุนไพรไทยเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ขณะที่สมุนไพรประเภทสปา, สบู่สมุนไพร และสินค้า OTOP มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.8 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 80.6 ลดลงจากระดับ 81.5 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อไหมพรม เสื้อผ้าไหม มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และจีน ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อ ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (สินค้าประเภทอะไหล่รถขุด รถ ไถนา มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้ลดลง จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและปัญหาภัยแล้ง) อุตสาหกรรมน้ำตาล (ยอดคำสั่งซื้อน้ำตาลทรายจากประเทศอินเดีย และแถบตะวันออกกลาง ลดลง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (สินค้าประเภทเครื่องเคลือบดินเผา และชุดอาหาร มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน เพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 94.4 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ 85.2 ลดลงจากระดับ 88.9 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (ผลิตภัณฑ์ประเภทขวดแก้ว คริสตัล มียอดขายในประเทศลดลง กระจกเงาและกระจกเคลือบผิว มียอดขายในต่างประเทศลดลง เช่น จีน และญี่ปุ่น) อุตสาหกรรมหล่อโลหะ(ผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปต่างๆ โลหะตัวพิมพ์ มียอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับต้นทุนที่สูงขึ้น) อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (ผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล เอทานอล มียอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับปัญหาภัยแล้งทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ เครื่องทำความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากสต๊อกสินค้าของลูกค้าในประเทศมีจำนวนมาก) ทั้งนี้อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ผลิตภัณฑ์พื้นฐาน ได้แก่ เม็ดพลาสติก เม็ดไนลอน เบนซีน และพาราไซลีน มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศอาเซียน) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.8 ลดลงจาก 103.5 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 85.6 ลดลงจากระดับ 89.6 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยอดคำสั่งซื้อน้ำยางข้น และยางแผ่นรมควัน จากประเทศจีนลดลง เพราะยังมีสต็อกเหลืออยู่มาก ส่วนยอดคำสั่งซื้อภายในประเทศยังชะลอตัว) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มมียอดคำสั่งซื้อลดลง เนื่องจากตลาดหลัก เช่น เอเชียใต้ จีน และอาเซียนมีการชะลอการสั่งซื้อ) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (สินค้าประเภทไม้แปรรูปมียอดคำสั่งซื้อลดลงจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากมีสต๊อกสินค้าจำนวนมากประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.7 ลดลงจากระดับ 103.2 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจ พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนพฤษภาคม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 82.6 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.8 ลดลงจากระดับ 100.3 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 92.2 ลดลงจากระดับ 100.1 ในเดือนพฤษภาคม จากองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.7 ลดลงจากระดับ 104.2 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับราคาน้ำมัน อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมิถุนายนนี้ คือ เร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนการใช้งบประมาณ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพิ่มการใช้จ่ายและบริโภคภายในประเทศ ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ พร้อมหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และช่วยเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs โดยสนับสนุนให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ