กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์
ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกันเปิดเวทีนำเสนอ “แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่และนโยบายรัฐบาล” ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการการศึกษา 5 ข้อประกอบด้วย 1)การสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นคนเชียงใหม่ 2)การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 3)ส่งเสริมให้จัดการศึกษาให้มีสัมมาชีพอย่างมีคุณภาพ 4) การพัฒนาครู บุคคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน ผู้ปกครอง และ 5)สร้างเครือข่ายความร่วมมือจัดการศึกษาทุกภาคส่วนในจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นหน่วยงานประสานเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน “99 องค์กร 26 บุคคล” มาร่วมกันผนึกกำลังขึ้นเป็น “ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา” โดยปัจจุบันมีเครือข่ายรวมกันมากกว่า 3,000 คน และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและมอบนโยบายการปฏิรูปสังคมด้านการศึกษาแก่คณะทำงานของจังหวัด ร่วมแลกเปลี่ยนกรณีศึกษา 3 โรงเรียนนำร่องสู่การจัดการศึกษาเพื่อสัมมาชีพ
จากการระดมความคิดเห็นที่จัดโดยภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาพบว่า ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่เติบโตอย่างไร้ทิศทาง นักเรียนร้อยละ 25 ราว 86,000 คน ขาดทักษะชีวิตและทักษะอาชีพในการช่วยเหลือตนเอง พบสภาพปัญหา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เรียนโดยไม่มีเป้าหมายในชีวิต ขาดทักษะในการทำงาน ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ และเมื่อเรียนจบก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ประกอบกับเชียงใหม่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 2 หมื่นตารากิโลเมตร ในพื้นที่ 25 อำเภอ 2,066 หมู่บ้าน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา จึงเป็นที่มาของหนึ่งในยุทธศาสตร์เชียงใหม่ที่มุ่งส่งเสริมให้จัดการศึกษาสัมมาชีพอย่างมีคุณภาพ โดยล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งประกาศจังหวัดเชียงใหม่แต่งตั้งคณะปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ (ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาที่ตอบโจทย์ความหลากหลาย
นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง “แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่”ว่า “ผมใช้โอกาสของการเฉลิมฉลองเชียงใหม่ครบ 720 ปี ช่วงปลายปี 2558 เพื่อระดมพลังคนเชียงใหม่ทั้งหมดมาร่วมกันปฏิรูปการศึกษา แล้วก็จะประกาศใช้แผน จากนั้นก็จะมีโรงเรียนต่างๆ เข้ามาร่วมกระบวนการและทำ MOU มีการติดตามและประเมินผล โดยหน่วยงานใดที่ทำในเรื่องที่สอดคล้องกับหลักการปฏิรูปของเราก็จะใช้งบประมาณของหน่วยนั้นเป็นหลัก ส่วนที่สองเป็นงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนที่สามก็เป็นเรื่องการนำงบประมาณบูรณาการลงขันกันทุกหน่วยงาน เรื่องที่สี่เราก็จะมีการตั้งกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ขึ้น และเราได้ตั้งคณะทำงานเพิ่มอีก 2 ชุดคือ คณะทำงานชุดการร่างหลักสูตรประวัติศาสตร์เชียงใหม่ และคณะทำงานเพื่อจะจัดทำศูนย์ข้อมูลสารสนเทศการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ เพื่อรวบรวมข้อมูลของเด็กเชียงใหม่ทั้งหมดจากทุกเครือข่ายมาอยู่รวมกันที่ศูนย์แห่งนี้”
นายไพรัช ใหม่ชมพู ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงใหม่ ในฐานะเลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเปิดเผยว่า ในโอกาสที่ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมามอบนโยบายการปฏิรูปสังคมฯ ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ทางภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาจึงได้จัดทำข้อเสนอแนะใน 7 ประเด็นเพื่อการปฏิรูปเชิงพื้นที่เชียงใหม่เพื่อเสนอแก่รัฐบาล เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของเชียงใหม่ สามารถขับเคลื่อนดำเนินงานต่างๆ ไปได้อย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ
“ข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคีเชียงใหม่ต่อรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 7 ข้อประกอบไปด้วย 1) จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาจังหวัดหรือสภาการศึกษาจังหวัด มีกฏหมายรองรับเพื่อเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทั้งจังหวัด 2) จัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษา โดยคำนึงถึงโอกาสและการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การจัดสรรงบประมาณพัฒนาสถานศึกษาที่เป็นเงินรายหัวสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ยากจน ห่างไกล ขนาดเล็กควรได้รับการจัดสรรเป็นพิเศษ 3) ปรับระบบการประเมินนักเรียน ครู สถานศึกษา ตลอดถึงการจัดทำผลงานทางวิชาการให้ประเมินตามจริง ลดการจัดทำเอกสาร 4) สนับสนุนบุคคลากรสยายสนับสนุนสถานศึกษาอย่างพอเพียง เพื่อทำหน้าที่งานธุรการ งานการเงิน งานพัสดุ และอื่นๆ เพื่อให้ครูปฏิบัติหน้าที่สอนอย่างแท้จริง เพื่อคืนครูให้กับนักเรียน 5) สนับสนุนการจัดการศึกษาของเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของรัฐบาล 6) จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ และ 7) พัฒนาโรงเรียนดี มีคุณภาพ ขยายสู่ทุกพื้นที่ของจังหวัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”
นายเฉลิมชาติ นครังกุล ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การศึกษาเป็นต้นน้ำในการสร้างคน ดังนั้นเป้าหมายที่แท้จริงของการจัดการศึกษาคือการทำให้เด็กที่จบออกมามีสัมมาชีพ เพราะการมีอาชีพที่มั่นคงจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
“ประเด็นที่หอการค้าเราจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นการสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของภาคธุรกิจอย่างแท้จริง คนเชียงใหม่จึงรวมตัวกันที่จะมาสร้างเชียงใหม่โมเดล ซึ่งอาจจะแตกต่างกับส่วนกลาง หรือจังหวัดอื่นๆ อย่างน้อยภาคเอกชนอย่างหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมต่างๆ ก็จะเข้ามาช่วยเป็นกระจกเงา เพราะฉะนั้นทางหอการค้าจึงยินดีที่จะสนับสนุนเชียงใหม่โมเดล ที่เราจะร่วมกันการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะเกิดโมเดลในลักษณะนี้กับจังหวัดอื่นๆ ด้วย”
นายเรืองฤทธิ์ อภิวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่อายวิทยาคม สังกัด อบจ.เชียงใหม่เล่าว่า โรงเรียนแม่อายวิทยาคม ได้ร่วมกับ บริษัทเพียรกุศลไหมและฝ้าย และ คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำ โครงการ Career Academy ปรับหลักสูตรการเรียนรู้ผ่าน “ห้องหม่อนไหม” ให้ผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งงานเชิงวิชาการและงานฝึกทักษะอาชีพแบบครบวงจร โดยได้ปรับหลักสูตรให้มีการเรียนวิชาพื้นฐานในภาคเช้าทั้งหมด และภาคบ่ายเป็นวิชาการงาน 3.5 หน่วยกิจทุกวัน อาทิ การปลูกไหมใบ การทำเส้นใยธรรมชาติ และการทอผ้า นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยดึงความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นถอดเป็นบทเรียน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะช่วยเติมเต็มในเรื่องเทคนิค และการประเมินผลงานเชิงประจักษ์
“จากเดิมที่โรงเรียนพยายามจะปรับปรุงการเรียนการสอน โดยให้ครูจัดกิจกรรมบูรณาการผ่านแหล่งเรียนรู้ แต่กลับพบว่ามีนักเรียนส่วนหนึ่งที่เมื่อจบ ม.3 และม.6 แล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากไม่มีทักษะในการทำงาน โดยเฉพาะทักษะการคิดจึงเป็นที่มาของห้องหม่อนไหม ที่มุ่งส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลัก ใช้ทักษะในการสังเกต ทดลอง คิดวิเคราะห์ และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างมีเหตุผลซึ่งมีความจำเป็นและเป็นโอกาสกระตุ้นฝึกให้นักเรียนคิดมากขึ้น และการเข้ามาร่วมกันบูรณาการการเรียนรู้ ทำให้ได้รับการแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างภาคีเครือข่ายการศึกษา และภาคธุรกิจว่า คุณลักษณะของผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ควรเป็นอย่างไร เช่น ต้องขยัน ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องสังเกต มีทักษะในการสื่อสารทั้งไทยอังกฤษได้ดี ส่วนภาคมหาวิทยาลัยจะช่วยดูแลเนื้อหาสาระ เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนประดิษฐ์คิดค้นในสิ่งใหม่ๆ ขณะที่ภาคธุรกิจ บริษัทเพียรกุศลฯ ก็ช่วยพัฒนาในการออกแบบดีไซต์ลวยลายผ้าและรูปแบบสินค้า โดยนักเรียนเป็นผู้สร้างนวัตกรรมลงมือทำเอง ซึ่งมีความจำเป็นเพราะในปัจจุบันเครื่องมือมีความละเอียด ต้องใช้ทักษะระดับสูง หากไม่ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ ก็ยากที่จะทำงานในบริษัทเหล่านี้ได้ ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่านี้เป็นอีกวิธีการทำงานและการเรียนรู้ที่ดีอีกแบบหนึ่งที่จะสามารถให้นักเรียนอยู่รอดในโลกอนาคต”