กรมป่าไม้เร่งทำป่ากันชน ลดขัดแย้งคน ป่า และช้างป่า

ข่าวทั่วไป Thursday July 23, 2015 13:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กรมป่าไม้ กรมป่าไม้สำรวจป่าสงวนฯ ขุนซ่อง จ.จันทบุรี พบนายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยาง สวนปาล์ม ช้างเดือดร้อนออกมากินพืชผลเกษตรกร อธิบดีกรมป่าไม้เร่งทำความเข้าใจให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้ พร้อมทำป่ากันชนชายขอบป่าอนุรักษ์ หาแหล่งน้ำ อาหาร เพิ่ม และขุดบ่อกันชนกันช้างออกนอกพื้นที่ป่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ภายหลังการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี พบว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกกลุ่มนายทุนต่างถิ่นเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ปลูกสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งบริเวณนี้จะมีช้างป่า30-40 ตัว ออกมาอาศัยพักนอนตอนกลางวัน และตอนกลางคืนจะออกมาหากินในสวนผลไม้และพืชไร่ของชาวบ้าน โดยช้างป่าส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์รอยต่อ 5 จังหวัด และเดินต่อเนื่องหากินออกมาบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบนภูเขาที่ยังเหลืออยู่หลายจุดที่ล้อมรอบด้วยสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้ถูกชาวบ้านมาบุกรุกครอบครองพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปี 2518 และมีการบุกรุกใหม่เพิ่มขึ้นมากหลังปี 2545 เบื้องต้นจึงมีการพูดคุยเรื่องการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และการขอกันพื้นที่คืนมาเป็นผืนป่าอนุรักษ์เพื่อส่วนรวม ส่วนเรื่องช้างได้พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อให้ยอมรับและสามารถอยู่ร่วมกับช้างป่าได้ โดยต้องเข้าใจว่าพื้นที่นี้เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามาก่อนที่คนจะเข้ามาอยู่ ซึ่งจำเป็นที่ทุกคนจะต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิเวศวิทยา และพฤติกรรมของช้างป่าด้วย เพื่อทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสันติและยั่งยืน นายธีรภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว กรมป่าไม้จะทำแนวกันชนระหว่างป่ากับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยจัดการป่ากันชนชายขอบป่าอนุรักษ์เพื่อลดความขัดแย้งของคน ป่า และช้างป่า และปลูกพืชอาหารช้างเพิ่มขึ้น เพื่อให้ช้างอิ่ม จะได้ไม่ออกจากป่า หรือออกมาให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีโครงการขุดบ่อกันช้างออกจากพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง และหลายจุดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถป้องกันช้างออกนอกพื้นที่ป่าได้ดี แต่บริเวณพื้นที่แก่งหางแมวนั้นยังขุดไม่เสร็จ ซึ่งจะเร่งให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ