กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า คณะกรรมการวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงวัฒนธรรม,ราชบันฑิตยสภา กรมประชาสัมพันธ์,สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ,สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ,หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม นักวิชาการ และศิลปินแห่งชาติ ร่วมกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางภาษาไทย ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมทางภาษาของชาติ และเพื่อให้ชาวไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยและร่วมใจกับใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม รวมถึงการอนุรักษ์ภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์อยู่คู่ชาติไทยสืบไป โดยการกำหนดให้มีการจัดการสัมมนาการใช้ภาษาไทยถิ่นทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่ อนุรักษ์ และฟื้นฟูภาษาไทยในแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป โดยเบื้องต้นกระทรวงวัฒนธรรมจะจัดกิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ 29 กรกฎคม 2558 ที่จะถึงนี้ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง ภาคอีสานที่จังหวัดมหาสารคาม ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคกลางที่จังหวัดเพชรบุรี โดยได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดดังกล่าวจัดกิจกรรมในพื้นที่ของตนเอง
รมว.วธ. กล่าวต่อว่า ภาษาไทยถิ่น เป็นภาษาประจำท้องถิ่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้ความสำคัญกับภาษาไทยถิ่นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยกำหนดจัดกิจกรรมใน 4 ภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง จะจัดกิจกรรมการขับขานบทค่าวฮ่ำ “คำเมืองวันนี้” สาธิตการ “อู้บ่าวอู้สาว” ในอดีตของคนเมือง การเสวนา “วิถีคำเมือง ในอดีต ปัจจุบันและอนาคต” สาธิตการขับซอพื้นเมือง และการโต้วาทีคำเมือง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนดุสิต ศูนย์ลำปาง ภาคอีสาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม จัดกิจกรรมการเสวนาวิชาการ กล่าวคำผญา มอบเกียรติบัตรยกย่องผู้อนุรักษ์ภาษาถิ่น การแสดงและสาธิตการใช้ภาษาถิ่น เช่นร้องเพลงกล่อมลูก การเล่านิทาน การกล่าวสุนทรพจน์ การแสดงหมอลำ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ภาคใต้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดกิจกรรมสัมมนาอนุรักษ์ สืบสาน ภาษาไทย-ภาษาถิ่น (ภาคใต้) การแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์ถิ่นใต้” เช่น การแสดงเพลงบอก เล่านิทาน ร้องเพลงกล่อมลูก โนราและหนังตะลุง รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการและองค์ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย-ภาษาถิ่น(ภาคใต้) ในวันที่ 29 ก.ค. นี้ ณ โรงแรมนิภาการ์เด้น อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ส่วนภาคกลางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี จัดกิจกรรมทางวิชาการ อาทิ การอ่านทำนองเสนาะ “ความสำคัญของวันภาษาไทย” การเสวนาเรื่อง “เอกลักษณ์ภาษาไทยถิ่น (ศัพท์ สำนวน สำเนียง) ”จัดแสดงพื้นบ้านและดนตรีพื้นบ้านที่ใช้ภาษาถิ่น นิทรรศการภาษาถิ่น การประกวดแข่งขันทักษะด้านภาษาไทย การคัดลายมือที่เขียนถูกต้อง ในวันที่ 29 ก.ค. นี้ ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ที่สำคัญ กระทรวงวัฒนธรรมจะจัดทำพจนานุกรมรวบรวมองค์ความรู้ และคำศัพท์ภาษาถิ่น เพื่อเผยแพร่แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ให้เกิดความตระหนักรู้และหวงแหนความเป็นท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์และสืบสานภาษาไทยถิ่นและศิลปวัฒนธรรมของตนต่อไป