กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--วีม คอมมูนิเคชั่่่่่่่่่น
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดินหน้าผลักดันแผนพัฒนาตลาด ICT ต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจอาเซียน จับมือสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) ร่วมเป็นเจ้าภาพเปิดโครงการ “eGvernment Forum 2015” งานภายใต้แนวคิดหลัก Digital Economy : The Transformation for Business & Society อบรมสัมมนาทางวิชาการด้านไอซีทีเพื่อการบริหารงานภาครัฐ พร้อมพัฒนาประเทศให้ก้าวทันต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจของโลกที่กำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล สมาคมเอทีซีไอ เผย “eGovernment Forum 2015” สุดยอดงานอบรมสัมมนาทางวิชาการและแสดงเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังประสบความสำเร็จจากครั้งที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมมากกว่า 3,500 คน เผยการสัมมนาครั้งนี้อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายสู่การพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง พร้อมระดมหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน),บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด, VERITAS, บริษัทเลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด, SAP Thailand Ltd., บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมอบรมสัมมนา และแสดงเทคโนโลยีสารสนเทศในงานนี้
นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยมีนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อมุ่งหวังให้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ในทุกธุรกิจตั้งแต่ระดับใหญ่ ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยใช้ระบบดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขององค์กร และเครือข่ายระหว่างองค์กร ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการกระบวนงานแบบสมัยใหม่ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการหรือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันคำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ Digital Economy กำลังเป็นประเด็นที่ประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากปรากฏการณ์ “Digital Transformation” “และ Internet of Things” กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก การพัฒนาสิ่งจำเป็นพื้นฐานและอุปกรณ์ต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน (Connected Device) ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น PC NoteBook หรือ Smartphone อีกต่อไป Internet of Things กำลังเข้ามามีบทบาทกับเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจต่างๆที่จะต้องปรับตัวให้สามารถตอบสนองจากความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค การ์ดเนอร์ได้ทำนายว่า
ในปี ค.ศ. 2018 หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จะใช้ข้อมูลจาก Internet of Things สนับสนุนการดำเนินงานที่มีความสำคัญของหน่วยงานอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ และยังมีอีกหลายองค์กรที่มีการทำนายไว้ล่วงหน้าว่าภายในปี ค.ศ. 2020 จะมีจำนวนอุปกรณ์ที่ออนไลน์กับอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านอุปกรณ์ ซึ่งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างก้าวกระโดดในหลายปีที่ผ่านมาประกอบกับกระแสความนิยมการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น Facebook และ Twitter ร่วมกับการใช้ Smart phone ความนิยมในการดาวน์โหลด “Mobile App” ในการติดต่อกันในลักษณะ Social Network เช่น Line หรือ WhatsApp ตลอดจนการใช้งานระบบ Cloud ในการจัดเก็บข้อมูลทั้งส่วนตัวและข้อมูลขององค์กร ซึ่งสามารถควบคุมการทำงานผ่าน Application หรือเว็บไซต์ รวมถึงการใช้ Cloud-based Application ยอดนิยมต่าง ๆ เช่น iCloud และ Dropbox เป็นต้น นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จึงมีความสำคัญต่อการเตรียมตัวในระดับประเทศกับการมาถึงยุค Internet of Things ดังกล่าว
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จึงได้มีการจัดทำนโยบายและแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล และการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล โดยเน้นให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน โดยมีภาครัฐทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ การขจัดกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการเพิ่มสิทธิประโยชน์และแรงจูงใจ เพื่อให้การผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลประสบความสำเร็จและเกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้าน eGovernment ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการของภาครัฐ ที่จะช่วยเอื้อให้บริการของรัฐไปสู่ประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วและโปร่งใสในลักษณะ one stop service ทั้งนี้การดำเนินงานจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกมิติ
สำหรับโครงการอบรมสัมมนาทางวิชาการด้านไอทีเพื่อการบริหารงานภาครัฐ “eGovernment Forum 2015” ในครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ให้การสนับสนุนเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2558 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดหลัก Digital Economy: The Transformation for Business and Society ซึ่งจะเป็นอีกกิจกรรมที่เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจของโลกที่กำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลต่อไป
สมาคม ATCI ชี้การจัดงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมีผู้เข้าชมมากกว่า 3,500 คน“eGovernment Forum 2015” จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เนื้อหายังคงเข้มข้น
ดร.ธนชาติ นุ่นนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า สำหรับโครงการ “eGovernment Forum 2015” งานอบรมสัมมนาทางวิชาการและแสดงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของแผนการสร้างตลาด ICT ในประเทศไทย โดยในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ได้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี มีผู้บริหารจากหน่วยงานเป้าหมาย เข้าร่วมฟังสัมมนาวิชาการ และเข้าร่วมชมเทคโนโลยีมากกว่า 3,500 คน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายได้รับฟังความรู้ การแสดงทัศนะ การชมนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ จากภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนที่ได้ไปจัดทัพเดินสายร่วมงานในโครงการที่ผ่านมา
สำหรับโครงการ “eGovernment Forum 2015” ในปีนี้นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิดหลัก Digital Economy : The Transformation for Business & Society ซึ่งกำหนดจัดงานในวันที่ 6 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ณ. โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยในปีนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานมากมาย อาทิ ส่วนแสดงสาธิตนวัตกรรมจากผู้ประกอบการชั้นนำ, การปาฐกถาพิเศษจากผู้บริหารระดับสูง, การเสวนาจากหน่วยงานต่างๆ และผู้สนับสนุน, การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอบรมนวัตกรรม ซึ่งผู้สนับสนุนและเข้าร่วมโครงการมีดังนี้ 1. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) 2. บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด 4. SAP Thailand Ltd. 5. VERITAS 6. บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด 7. Netka System Co.,Ltd. 8. บริษัท เอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จํากัด 9. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 10. สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 11. สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) 12. บริษัท ฟูจิตสึ ซีสเต็ม บีสซีเนส (ประเทศไทย) จํากัด 13. CHUPHOTIC GROUP 14. บริษัท แวค รีเสิร์ช จำกัด 15. บริษัท ริโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด 16. สนง.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 17. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 18. กรมศุลกากร 19. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ NECTEC 20. การไฟฟ้านครหลวง 21. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นอกจากนี้ในส่วนของกิจกรรมการสัมมนา มีหัวข้อในการสัมมนาที่มีเนื้อหาเข้มข้น ที่น่าสนใจและมีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายมากมาย อาทิ หัวข้อเรื่อง Digital Government : The Eco-System for Better Thailand วันนี้รัฐบาลพร้อมผลักดันแล้วหรือยัง ภายใต้การเดินหน้าสู่ Digital Economy นั้น Digital Government คือคีย์เวิร์ดสำคัญ ในการเป็น Eco System ที่สำคัญที่จะผลักดันในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเป็น One Single Nation, หัวข้อเรื่อง Digital Government Initatives ภาครัฐ หรือรัฐบาลต้องเริ่มฟัง และตอบโจทย์ประชาชนโดยใช้เทคโนโลยี การที่ได้ก้าวข้ามจากยุค Citizen Centric มาสู่ยุค Citizen Driven แล้วอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้การเดินหน้าสู่ Digital Economy คำถามที่ยังค้างคาในประชาชนส่วนใหญ่คือ ประโยชน์ถึงประชาชนส่วนใหญ่คืออะไร แล้วรัฐบาลกำลังจะทำอะไรต่อ มาร่วมค้นหาคำตอบจากหลายโครงการที่กำลังผลักดันและเดินหน้าอยู่
หัวข้อเรื่อง Government Approach to assisted digital ปราศจาก NSW Policy : National Single Window ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของ Digital Government นั้น มีองค์ประกอบสำคัญที่อะไรบ้าง และกำลังการผลักดันมีมากน้อยแค่ไหน และด้วยกลไกอะไร, หัวข้อเรื่อง Civil Service Reform Plan ที่กำลังจะ reengineer กระบวนการในการให้บริการประชาชนอย่างไร จะเดินหน้าสู่การเป็น Thailand Gateway ได้หรือไม่ การมีแนวคิด There is No Wrong Law นั้น จะช่วยปฏิรูปวิธีการคิด ปฏิบัติ ขั้นตอน ของกระบวนการราชการได้อย่างไร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการ “eGovernment Forum 2015” ที่จะจัดขึ้นนี้เชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายที่สำคัญทั้ง กระทรวง/ทบวง/กรม/รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน จะได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้ การสนับสนุน และพัฒนาการใช้ ICT ในทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่การพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง และเพื่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศต่อไป
ETDA ภายใต้กระทรวงไอซีที พร้อมร่วมงาน eGovernment Forum 2015 รุกผลักดัน Soft Infrastructure ทั้งกฎหมาย มาตรฐานการส่งเสริม e-Commerce รวมถึง ความมั่นคงปลอดภัย อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้ก้าวทัดเทียมประเทศชั้นนำ
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ETDA) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ จึงได้แถลงนโยบาย เรื่องการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง
สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ก็คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาไอทีหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มผลงาน โดยใช้เวลาน้อยลง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และบริการต่าง ๆ เพื่อให้แข่งขันกับชาติต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปัจจุบันที่การใช้สมาร์ตดีไซน์ต่าง ๆ ติดต่อสื่อสารกันผ่านเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง เช่น 3G, 4G ซึ่งใช้งานได้ง่ายกว่า PC มาก ทำให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง แม้กระทั่งในคนที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตมาก่อน ซึ่งทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ มากมายในแทบทุกสาขาเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจาก Stakeholder หลายฝ่าย เพื่อให้ครอบคลุมระบบเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งการพัฒนา Hard Infrastructure การพัฒนา Soft Infrastructure การพัฒนา Service Infrastructure การส่งเสริม Digital Economy Promotion และการพัฒนา Digital Society ETDA ภายใต้กระทรวงไอซีที ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการส่งเสริมให้เกิด e-Commerce ของผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย รวมถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน Soft Infrastructure สำหรับผู้ประกอบการและระบบงานขนาดใหญ่ จึงได้เข้ามาเป็นหน่วยงานร่วมสนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะการพัฒนา SoftInfrastructure ซึ่งเป็นส่วนสำคัญไม่ว่าจะในด้านมาตรฐาน ความมั่นคงปลอดภัย และกฎหมาย ซึ่ง ETDA ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบหลักในส่วนนี้ และการเป็นผู้สนับสนุนในส่วนงานหลังบ้านของ Service Infrastructure ในบริการที่สำคัญยิ่งยวด ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการให้มีความมั่นคงปลอดภัย
การพัฒนา e-Commerce ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ระบบธุรกิจของประเทศสามารถก้าวทัดเทียมและมีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศในยุคดิจิทัล ETDA จึงมุ่งพัฒนา e-Commerce ของประเทศให้มีความเข้มแข็งในองค์รวม ทั้งงานหน้าบ้าน และงานหลังบ้าน โดยที่ผ่านมา ETDA มุ่งงานหลังบ้าน หรือ Soft Infrastructure ของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง e-Commerce ให้เข้มแข็ง ปี 2558 จึงได้เข้าสู่ “งานหน้าบ้าน” อย่างแท้จริง โดยการผลักดันโครงการ Green e-Commerce บ่มเพาะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัย ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน เริ่มต้นด้วย การส่งเสริมทักษะความรู้ด้านการทำ e-Commerce ที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่ใช่การอบรมแบบทั่วไป แต่เป็นการเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่เว็บไซต์กำหนด และเสริมความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการ ส่งเสริมการใช้อีคอมเมิร์ซในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนติวเข้มเทคนิคการตลาดออนไลน์ พร้อมสนับสนุนเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอดโครงการ
นอกจากนี้ ยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อผู้ขายออนไลน์ ด้วยการพัฒนา Thaiemarket.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ e-Directory ที่รวบรวมเว็บไซต์ร้านค้าจากผู้ประกอบการออนไลน์ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ พร้อมสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ เพื่อสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาอีคอมเมิร์ซไทย ด้วยการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ หรือ Online Complaint Center เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรองรับปัญหาอันเกิดจากการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเฟสแรกนั้น เริ่มต้นดูแลร้านค้าสมาชิกภายใต้ Thaiemarket.com อันเป็นโครงการนำร่อง และพร้อมขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้เปิดให้บริการแล้วทั้งแบบออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์
ทั้งนี้การสนับสนุนส่วนงานหลังบ้านของระบบขนาดใหญ่ เพื่อให้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ไม่ติดขัด โดย ETDA วางแนวทางและพัฒนากลไกที่จำเป็นในการหล่อลื่นให้ระบบพัฒนาไปข้างหน้าได้ โดยยึดหลักการทำงานที่อิงตามมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่เป็นสากล
ที่สำคัญยิ่งคือ Trade Facilitation Service ซึ่ง ETDA ได้เข้าไปดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานปรับปรุงการดำเนินการ NSW เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร สภาหอการค้า สำนักงานบริหารการนำเข้าส่งออกอ้อยและน้ำตาล ฯลฯ ซึ่งในเดือนเมษายน 2558 ได้มีการประชุมและสรุปว่าควรจะมีการจัดทำระบบ Document Exchange ตามที่ ETDA เสนอ โดยเลือกขอบเขตงานของเอกสารส่งออกน้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 6 ของประเทศไทย เป็นระบบในปีแรก เพื่อให้ออกเอกสารใบอนุญาตได้แบบอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถยื่นเอกสารจาก B2G ได้ทางอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับกฎหมาย Soft Infrastructure ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวัดสถานะความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล เมื่อรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการผลักดันการเติบโตของระบบเศรษฐกิจและความยั่งยืนของสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบในหลักการให้มีร่างกฎหมายจำนวน 10 ฉบับ ตามที่กระทรวงไอซีทีเสนอ ทั้งกลุ่มกฎหมายเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นการบูรณาการการทำงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกับภาคเอกชน และกลุ่มกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการเข้าสู่สังคมดิจิทัล ที่เน้นการวางกฎเกณฑ์เพื่อช่วยในการดูแลความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศและข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งรองรับ การเติบโตของ e-Commerce
นอกจากการเตรียมความพร้อมในส่วนของกฎหมายแล้ว ETDA ยังเตรียมความพร้อม ทั้งการผลักดันเชิงนโยบายที่เข้มแข็ง การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ตลอดจนการวางมาตรการเพื่อส่งเสริมและดูแลให้ธุรกรรมออนไลน์ที่ขณะนี้มีการนำไปใช้ในมิติต่าง ๆ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดงาน eGovernment Forum 2015 ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดี ที่ ETDA กระทรวงไอซีที จะได้นำเสนอความพร้อม อีกทั้งยังจะได้รับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศของเราให้ก้าวทันต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจของโลกที่กำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในงาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.egovernmentforum.com โทร. 02-661-7750 ติดต่อ (คุณธัญญา)