กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--มจธ.
เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Technology) มีข้อดีที่เอื้อต่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจหลายประการ ทว่าการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ยังไม่กระจ่างเท่าไรนัก องค์กรหลายแห่งที่สนใจเทคโนโลยีใหม่ยังคงมีข้อข้องใจหลายประการ เช่น จะเริ่มต้นอย่างไร และคาดหวังอะไรได้บ้าง ขณะที่องค์กรธุรกิจและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอาจขาดอุปกรณ์รองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และที่สำคัญ บุคลากรผู้มีทักษะความชำนาญในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ยังคงมีจำกัดในปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เชื่อมั่นว่า ทักษะฝีมือสามารถพัฒนาผ่านการศึกษาและประสบการณ์ได้ ด้วยเหตุนี้ การสร้างชุมชนเพื่ออธิบาย ศึกษา และแลกเปลี่ยนเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่จึงเป็นสิ่งจำเป็น และในเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา มจธ. ได้เปิดศูนย์เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บีเอ็กซ์ (Big data eXperience: BX) ขึ้น โดยมีบริษัทจี-เอเบิล คอร์เปอเรชั่น เป็นผู้สนับสนุนหลัก วัตถุประสงค์สำคัญของศูนย์ฯ คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลคุณภาพสูงเข้าสู่ตลาดเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ และขยายความต้องการการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือจากหุ้นส่วนทุกฝ่ายจะทำให้ภาพรวมของเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่กลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ขึ้นได้
ศูนย์บีเอ็กซ์เริ่มภารกิจด้วยบริการออกแบบโมเดลข้อมูลให้ลูกค้าองค์กรจำนวนหนึ่ง และบัดนี้ก็พร้อมสำหรับการเปิดตัว โดยมีวิศวกรข้อมูล กลุ่มผู้ให้บริการเทคโนโลยี และผู้ดำเนินการระบบเป็นทีมงานที่เข้มแข็ง เปิดให้องค์กรธุรกิจและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้ามาปรึกษาปัญหาการทำงานและเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือหารือเรื่องการเริ่มต้นหรือขยายโครงการเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้ ส่วนนิสิตนักศึกษาสามารถเข้ามาเรียนรู้หลักการทำงานของข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับวิศวกรข้อมูล และสัมผัสเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา มจธ. เปิดเผยว่า ศูนย์บีเอ็กซ์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อออกแบบและเทคโนโลยี (KX) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ถนนกรุงธนบุรี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ (ระหว่าง BTS วงเวียนใหญ่และ BTS กรุงธนบุรี) มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับการจัดแสดงเทคโนโลยี การประชุมหารือ และการเสวนาต่างๆ โดยจัดให้บริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ที่ช่วยสร้างแพลตฟอร์มพร้อมติดตั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ลักษณะต่างๆ ทั้งที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ทั่วไป (open source) และซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ให้ผู้สนใจ จัดอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นประจำให้สมาชิก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และวิชาการ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังมีโครงการตีพิมพ์งานวิจัย ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ นำเสนอกรณีศึกษาที่ได้จากการปฏิบัติงานจริง อัปเดตข้อมูลใหม่ๆ และมีความพร้อมในการออกแบบการใช้ข้อมูลให้เหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจและสถานการณ์การใช้งานข้อมูลที่หลากหลายของประเทศไทยและเออีซี
ปัจจุบัน ศูนย์บีเอ็กซ์ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรและองค์กรที่ให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่หลายแห่ง นอกจาก มจธ. และจี-เอเบิลซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง หุ้นส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ ได้แก่ ไอบีเอ็ม ไมโครซอฟต์ อีเอ็มซี-พิโวทัล อินฟอร์เมติก้า, คลาวเดรา ออราเคิล และเอสเอเอส รวมทั้งวิศวกรข้อมูลระดับปริญญาเอกกว่าสิบคนจากประเทศไทยและสิงคโปร์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์อื่นๆ ครอบคลุมเนื้อหาเฉพาะกว่า 20 ด้าน เช่น การสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล ภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยีชีวเวช การสื่อสารและเครือข่าย วิศวกรรมการเงิน และการพัฒนากระบวนการผลิต ศูนย์บีเอ็กซ์ได้ให้บริการแก่ธุรกิจต่างๆ ซึ่งรวมถึง (แต่มิได้จำกัดเฉพาะ) ธุรกิจการผลิต ธุรกิจการเงิน ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจค้าปลีก และการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ด้วยหุ้นส่วนเทคโนโลยีที่เข้มแข็งและความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการออกแบบและพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เช่นนี้ ศูนย์บีเอ็กซ์เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การทำงานของศูนย์ฯ จะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
รศ.ดร.ธีรณี กล่าวว่า หากมองในด้านวิชาการ ศูนย์บีเอ็กซ์ออกแบบการเรียนรู้ให้นิสิตนักศึกษาโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) เพื่อให้นักศึกษารู้จักทฤษฎีการออกแบบ เทคโนโลยี และเครื่องมือต่างๆ เช่นเดียวกับกระบวนการจัดการข้อมูล ตั้งแต่แนวคิดไปถึงแนวปฏิบัติ ลูกค้าองค์กรสามารถส่งปัญหาการใช้งานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นความลับให้นักศึกษาทดลองแก้ไข โดยมีวิศวกรข้อมูลที่ชำนาญงานให้คำปรึกษาและฝึกให้นักศึกษาสร้างต้นแบบเพื่อแก้ไขปัญหานั้นส่งให้ลูกค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระบบนี้ไม่เพียงช่วยให้นักศึษามีความพร้อมสำหรับการทำงานวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเอื้อให้ลูกค้าเห็นผลการวิเคราะห์เบื้องต้น และพิจารณาความเหมาะสมในการนำแนวคิดข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ในองค์กรของตนก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย
นอกจากนั้น รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ในงานเปิดศูนย์บีเอ็กซ์ ว่า ความร่วมมือครั้งนี้สามารถตอบโจทย์มหาวิทยาลัยได้ 3 อย่าง ข้อแรกคือ ทำอย่างไรให้ลูกศิษย์ มจธ.มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อที่สองตอบโจทย์ในการช่วยให้สมรรถนะของประเทศชาติสูงขึ้นด้วยการพัฒนาคนที่อยู่ในวัยทำงานของประเทศให้เข้มแข็งขึ้นด้วยการทำให้ SME มีสมรรถนะหรือความสามารถสูงขึ้น และข้อสุดท้ายคือการสร้างความสัมพันธ์ ชวนเครือข่ายหรือเพื่อนมาร่วมพัฒนาชาติด้วยกัน ซึ่ง มจธ.เองโชคดีมากที่ได้เพื่อนที่มีความคิดคล้ายๆ กันอย่างบริษัท จี-เอเบิล มาร่วมพัฒนาประเทศให้ไปในทางที่ดีขึ้น อยากเห็นคนไทยมีข้อมูลที่ทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์ ถูกต้อง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในการต่อยอดความรู้และธุรกิจได้อีกมาก เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า
นับจากวันนี้ ศูนย์บีเอ็กซ์มุ่งมั่นที่จะผลิตทรัพยากรบุคคลผู้เปี่ยมทักษะ สรรค์สร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ในผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่างๆ ของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างพร้อมที่จะแข่งขันได้ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใบนี้ เราเชื่อมั่นในพลังแห่งการร่วมมือและความคิดสร้างสรรค์ และยินดีต้อนรับผู้ที่พร้อมจะก้าวไปกับเราทุกคน.