กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--IR network
ผู้บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) แจง “คุณชูวงษ์ แซ่ตั๊ง” เสี่ยรับเหมาหมื่นล้าน ที่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท พร้อมประกาศเดินหน้าลุยโครงการไฟฟ้าตามแผน เตรียมขึ้นผงาดเป็นยักษ์ใหญ่พลังงานสีเขียวเบอร์หนึ่งของเมืองไทย
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่า นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีการโอนหุ้น EA จำนวน 9.5 ล้านหุ้น หุ้นละ 24 บาท รวมมูลค่า 228 ล้านบาท ให้กับหญิงสาวซึ่งไม่ใช่บุคคลในครอบครัว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมานายชูวงษ์ได้เสียชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำจนเป็นคดีความที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางนั้น ทาง EA ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วปรากฎว่า นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อีกทั้งไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริหารของบริษัท และไม่ได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อการบริหารงาน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ต่อบริษัททั้งสิ้น รวมทั้งส่วนของหุ้นที่โอนนั้นตรวจสอบแล้ว ก็ไม่ได้มาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแต่อย่างใด
“เราตรวจสอบแล้วว่าผู้ตายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ต่อทางเราเลย ไม่มีชื่อในฝั่งบริหาร หรือในผู้ถือหุ้นใหญ่ และไม่ได้เป็นคู่ค้าหรือมีการทำธุรกรรมใด ๆ กับเรา ส่วนเรื่องโอนหุ้นก็ไม่ได้มาจากผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททั้งสิ้น ก็คาดว่าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับบริษัท ตอนนี้เราก็ทำงานตามแผนงานตามปกติ ยิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงฝนตก เรายิ่งเร่งงานก่อสร้างที่หน้างานให้เร็วขึ้น ซึ่งแผนงานก่อสร้าง การจัดซื้ออุปกรณ์ และการจัดหาเงินทุน ทุกอย่างอยู่ภายใต้ควบคุมของทีมงานเป็นอย่างดี ไม่มีอุปสรรคหรือข้อกังวลใด ๆ เราจึงมั่นใจว่า โครงการโรงไฟฟ้า ขนาด 90 เมกะวัตต์ ที่ จังหวัดพิษณุโลก และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดรวม 126 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างฐานรากและระบบงานโยธา จะแล้วเสร็จตามแผนงาน โดยคาดว่าบริษัทจะเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจากโครงการใหม่ดังกล่าวในต้นปี 2559” นายอมร กล่าว
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 188 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ จ.ลพบุรี, โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มขนาดกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ จ.นครสวรรค์ และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ จ.ลำปาง (ซึ่งเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา) ปรากฏว่าสามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าแผนการที่คาดไว้ และมียอดผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งจะเห็นการเติบโตได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 นี้เป็นต้นไป