กรุงเทพ--7 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กรมอนามัย จัดทำหนังสือโภชนาการกับการกีฬา แนะนำนักกีฬาแต่ละประเภทควรได้รับอาหารประเภทใด มากเป็นพิเศษ เพื่อการมีสมรรถภาพร่างกายที่ดี พิชิตการเป็นเจ้าเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กองโภชนาการ กรมอนามัย ได้จัดทำหนังสือ "โภชนาการกับการกีฬา" เนื้อหาเกี่ยวกับความรู้และวิธีปฏิบัติในเรื่องอาหารของนักกีฬาแต่ละประเภท เนื่องจากความต้องการพลังงานของนักกีฬาจะแตกต่างกันตามประเภทของกีฬา วัย เพศ น้ำหนัก และระยะเวลาที่ฝึกซ้อมแต่ละวัน ทั้งนี้โดยทั่วไป นักกีฬาชาย จะใช้พลังงานประมาณ 3,000-5,000 กิโลแคลอรี่ นักกีฬาหญิง จะใช้พลังงานประมาณ 2,500-3,000 กิโลแคลอรี่ และนักกีฬาที่เล่นกีฬาเพื่อการแข่งขันจะมีวิธีแนะนำในการรับประทานอาหารเพื่อให้มีพลังงานสะสมมากกว่าปกติ หนังสือเล่มนี้ได้ให้คำแนะนำซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับนักกีฬา รวมทั้งผู้ทำการฝึกสอนได้เป็นอย่างมาก การเล่นกีฬาของนักกีฬาแต่ละประเภท จะได้ผลดีต้องได้รับการฝึกซ้อม ฝึกฝนจากผู้ฝึกสอนที่มีทักษะ ประสบการณ์เป็นอย่างดี และผนวกกับได้รับอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละประเภทย่อมผลักดันให้นักกีฬามีสมรรถภาพร่างกายที่ดี แข็งแรง ความมุ่งหวังในการได้รับชัยชนะเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คงไม่ไกลเกินเอื้อม
เนื่องจากนักกีฬาส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญเรื่องเทคนิคและทักษะการฝึกซ้อม มากกว่าคำนึงถึงการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง มักจะเน้นอาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และเชื่อว่าอาหารเสริมบางอย่างจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพร่างกายได้ แท้จริงแล้วในสารอาหารแต่ละชนิดก็ให้พลังงานและมีประโยชน์แตกต่างกัน คือ คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ ทำให้นักกีฬาสามารถมีพละกำลังอยู่ได้นาน ไม่เหนื่อยเร็ว จึงควรรับคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้น โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ ใช้ในการเสริมสร้างและซ่อมแซม ในแต่ละวันนักกีฬาต้องการโปรตีน ปริมาณ1.0-1.5 กรัม/น.น.ตัว 1 กิโลกรัม ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ จะถูกนำมาใช้เป็นพลังงานร่วมกับคาร์โบไฮเดรต โดยมีก๊าซออกซิเจนร่วมด้วย วิตามินช่วยในขบวนการเผาผลาญหรือช่วยให้ปฏิกิริยาต่าง ๆ ทำงานตามปกติ เกลือแร่ เป็นแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือด กระดูก ช่วยสร้างเม็ดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ดี น้ำ มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับนักกีฬา เพราะการสูญเสียน้ำ 4-5% ของน้ำหนักตัว จะลดประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ 20-30% จึงควรดื่มน้ำมากโดยเฉพาะน้ำเย็นจะดีกว่าน้ำอุ่น จะช่วยในการดูดซึมได้รวดเร็วและช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
อย่างไรก็ตาม หนังสือดังกล่าวจะเกิดประโยชน์สูงสุดหากผู้รับผิดชอบผู้เกี่ยวข้องกับการกีฬา สร้างและฝึกนักกีฬาทีมชาติจะได้นำไปใช้ ดังนั้นหากหน่วยงานที่ฝึกสอนนักกีฬา นักกีฬาทีมชาติ โรงเรียนการกีฬา และสถาบันต่าง ๆ มีความสนใจในเอกสารความรู้ ขอให้ติดต่อได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมโภชนาการ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 5918162-3 ได้ทุกวัน เวลาราชการ--จบ--