กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา จับมือ สกอ. จัดงานการดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศฯ “วันก้า” ครั้งที่31 ดึงผู้นำด้านไอทีจากในและต่างประเทศร่วมเวิร์คชอป หวังกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ชุมชน
รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างพิธีเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (Workshop on UniNet Network and Computer Application) WUNCA หรือ “วันก้า” ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 22-24 ก.ค. ณ ศูนย์คอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา ว่า งานในครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนคณาจารย์ นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมพูดคุยและให้ความรู้เกี่ยวกับเครือข่ายสารสนเทศ ใน 23 หัวข้อ และฝึกอบรม 9 หลักสูตร โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 548 คน นอกจากนั้น ในวันที่ 24 ก.ค. ยังมีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากพี่สู่น้อง ซึ่ง มรภ.สงขลา ได้เชิญโรงเรียนที่ได้รับบริการเครือข่ายจากโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (Inter-University Network : UniNet) ในพื้นที่ 3 จังหวัดโดยรอบ ได้แก่ จ.พัทลุง สงขลา และ สตูล จำนวน 297 คน เข้าร่วมอบรม ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่เครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาวิจัยของไทย จะสามารถขยายผลและได้ถ่ายทอดเทคนิคความรู้ไปยังการศึกษาระดับอื่นต่อไป ส่วนเจ้าภาพงานวันก้าครั้งที่ 32 คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่ง มรภ.สงขลา ได้ทำพิธีส่งมอบการเจ้าภาพในงานครั้งนี้ด้วย
“มรภ.สงขลา เป็นเจ้าภาพต่อจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายฯ การศึกษาวิจัย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศบนเครือข่าย และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างกลุ่มสมาชิกเครือข่ายที่ได้ไปทดลองปฏิบัติ หรือวิจัย จนได้ผลดี ประสบความสำเร็จใช้ในงานในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ก็นำความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอดให้สมาชิกได้รับทราบ ได้ทดลองและฝึกปฏิบัติจริงบนอุปกรณ์เทคโนโลยีเครือข่ายหลากหลายชนิด” อธิการ มรภ.สงขลา กล่าว
ด้าน นายศิระวิทย์ คลี่สุวรรณ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประธานในพิธี กล่าวว่า ปัจจุบันในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับบริการเครือข่ายจาก UniNet พื้นฐานจะได้รับบริการสื่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ขนาดความเร็ว 1 กิกะบิตต่อวินาที แต่หลายแห่งเริ่มมีการพัฒนาเครือข่าย และส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ เพื่อจัดการเรียนการสอนและการวิจัยเพิ่มมากขึ้น เมื่อเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษามีความพร้อมแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปคือการวางแผนเชิงนโยบาย ซึ่งข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอันดับแรก จึงเป็นที่มาของนโยบายภาครัฐในการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารราชการแผ่นดินของผู้บริหารทุกระดับ เช่นเดียวกับการวางแผนด้านการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ในฐานะที่สถานศึกษาเป็นเจ้าของแหล่งข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น หากมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบแล้ว ผู้บริหารก็จะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้วางแผนพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าทัดเทียม และแข่งขันกับนานาประเทศได้