กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
วันที่ 24 กรกฎาคม ที่โรงแรมดุสิตธานี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 เรื่อง “ศึกษายางรักเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสในการเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า คนไทยเรารู้จักนำวัสดุที่ได้จากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังตัวอย่างเช่น สิ่งที่ได้จากพืชพรรณและแร่ธาตุต่างๆ วัสดุเคลือบ ประสาน ที่ได้จากยางไม้บางชนิด แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่ล้ำลึกของบรรพบุรุษ ก่อเกิดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ สืบทอดต่อๆ กันมา ยางไม้รักเป็นของธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในงานศิลปหัตถกรรม หรือประณีตศิลป์ คนไทยและคนอีกหลายชนชาติในภูมิภาคเอเชียรู้จักใช้ยางรักมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นวัฒนธรรมร่วมสาขาหนึ่งของ ชนชาติในซีกโลกตะวันออก
ในปัจจุบันภูมิปัญญาเรื่องยางรักแทบจะหมดไปจากสังคมไทย ด้วยเหตุมีผู้รู้ ผู้สนใจน้อยลง ไม้รักก็ลดจำนวนลงอย่างมาก ยางรักธรรมชาติหาได้ยาก เป็นเหตุที่ให้ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศเมื่อต้องการใช้งาน ประกอบกับมีการผลิตยางรักสังเคราะห์ขึ้นแทนที่ การส่งเสริมการปลูกไม้รักให้มากขึ้น ให้ได้ยางรักธรรมชาติคุณภาพดีใช้งาน จึงเป็นทางที่จะช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านนี้ให้คงอยู่ ทั้งยังช่วยลดการสั่งซื้อจากต่างประเทศ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในด้านส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน การประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอผลงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไม้รักที่เริ่มต้นกันมานานพอควร เชื่อได้ว่าจะมีการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ การที่หน่วยงานที่มีศักยภาพ เช่น กรมศิลปากร กรมป่าไม้ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมมือช่วยเหลือในวิธีการต่าง ๆ กัน จะช่วยให้งานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมสาขานี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังเฝ้าฯ รับเสด็จฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า พระองค์ทรงห่วงว่าภูมิปัญญาไทยเรื่องเครื่องรักของไทยจะสูญสิ้นไป จึงมีพระราชดำริให้หาแนวทางในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาสาขานี้ ตั้งแต่การปลูกต้นรัก พัฒนาสายพันธุ์ต้นรักให้ได้ผลผลิตสูงมีคุณภาพดี เพื่อนำมาใช้ในงานประณีตศิลป์ของไทย พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องรักเพื่อการส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศชาติ กรมศิลปากร กรมป่าไม้ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงน้อมรับแนวพระราชดำริในการศึกษายางรักเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย จัดทำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2550 และได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเป็นครั้งที่ 2 วันที่ 24-25 กรกฎาคม เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง
นายวีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการในการปลูกต้นไม้ ที่สามารถนำไม้มาใช้ในการบูรณะโบราณสถานและใช้ในการทำเครื่องดนตรีไทยได้ อย่างไรก็ตามในการประชุมมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมเสนอผลงานวิจัย จำนวน 28 บทความ จาก 10 ประเทศ ในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย อาทิ การปลูกต้นรักและการพัฒนาสายพันธุ์ยางรักในงานศิลป์และวัฒนธรรม งานรักในมิติวิทยาศาสตร์ พิษวิทยาของยางรัก การอนุรักษ์โบราณวัตถุประเภทเครื่องรัก การผลิตและส่งเสริมผลิตภัณฑ์เครื่องรัก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งชาวไทยและต่างประเทศรวม 350 คน