กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--เวิรฟ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและกลุ่มบริษัท จีเอเบิล ผู้นำการให้บริการไอทีโซลูชั่นครบวงจร เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้ บิ๊ก ดาต้า ในไทยอย่างเป็นรูปธรรม ผสานความร่วมมือเปิด “บิ๊ก ดาต้า เอ็กซ์พีเรียนซ์ เซ็นเตอร์ (Big data eXperience Center) หรือ BX” ศูนย์ให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บิ๊ก ดาต้า ครบวงจร แห่งแรกในประเทศไทย มุ่งขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างและพัฒนาบุคลากรด้าน บิ๊ก ดาต้า รองรับตลาดโตก้าวกระโดดพร้อมสร้างมูลค่าเชิงธุรกิจ ผลักดันธุรกิจไทยก้าวสู่เอเอซี ตั้งเป้ายอดสมาชิก 1,000 รายภายในสิ้นปี
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีชื่อเสียงด้านการศึกษาและงานวิจัยเกี่ยวกับแวดวงอุตสาหกรรม ตลอดจนการวิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้และการสร้างนวัตกรรม เพื่อเป็นการยกระดับพันธกิจด้านงานบริการภาคอุตสาหกรรม และการขยับขยายงานบริการสู่ภายนอก เราได้เปิดวิทยาเขตซิตี้แคมปัสที่เรียกว่า“Knowledge Exchange Center หรือ KX” ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจระหว่างสถานีบีทีเอสกรุงธนบุรีและวงเวียนใหญ่เพื่อกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ สร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้น โดยศูนย์ฯ ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการถ่ายเทองค์ความรู้และกระตุ้นให้เกิดยุคสมัยแห่งความคิดและนวัตกรรม เป็นสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนผู้ให้บริการด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีรวมถึงภาครัฐสามารถใช้เป็นสถานที่พบปะและนำเสนอสิ่งที่ตนเองมีและพร้อมให้การสนับสนุนแก่ผู้อื่น เพื่อสร้างความร่วมมือและพันธมิตรด้านนวัตกรรม ตลอดจนวัฒนธรรมของการเป็นผู้ประกอบการ”
“จากพันธกิจหลักของ KX ผนวกกับในปัจจุบันบริการการวิเคราะห์ บิ๊ก ดาต้า เริ่มเป็นที่แพร่หลายในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่รวมไปถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ บิ๊ก ดาต้า อย่างมีประสิทธิภาพย่อมสร้างข้อได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการในไทยยังขาดความเข้าใจใน บิ๊ก ดาต้ามจธ. จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้าง Ecosystem ของ บิ๊ก ดาต้า ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จับมือกับกลุ่มบริษัทจีเอเบิลก่อตั้ง “บิ๊ก ดาต้า เอ็กซ์พีเรียนซ์ เซ็นเตอร์ (Big data eXperience Center) หรือ BX” ขึ้นเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การสร้างและพัฒนาบุคลากรด้าน บิ๊ก ดาต้า ตลอดจนการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเชิงธุรกิจอย่างสูงสุด”
นายนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า “คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้มีการใช้โซเชียล มีเดีย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้ใช้งานผ่าน Mobile device มากกว่า 8,000 ล้านเครื่องทั่วโลก และในแต่ละวันมีการแชร์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊คมากกว่า 500 เทระไบต์ (TB) มีคนกด Like ใน เฟซบุ๊คมากกว่า 2,700ล้านไลค์ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่า 10 เท่าในทุกๆ 5 ปี ตลอดจนขนาดของข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นจากรูปภาพและวีดีโอที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จัดเป็น บิ๊ก ดาต้า หรือ อภิมหาข้อมูล ที่องค์กรต่างๆ สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ทั้งในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค ความคิดเห็นเกี่ยวกับแบรนด์ หรือประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร เป็นต้น ดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมมาวิเคราะห์ บิ๊ก ดาต้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน อาจกล่าวได้ว่าการนำ บิ๊ก ดาต้า มาใช้ เป็นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ของภาคธุรกิจว่าจะเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้กับกระบวนการทำธุรกิจได้อย่างไร ทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มให้ความสนใจ ในการนำมาวิเคราะห์ในเชิงลึก ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีความเข้าใจ สามารถตอบสนองและปรับเปลี่ยน กลยุทธ์ได้อย่างทันท่วงที”
“กลุ่มบริษัทจีเอเบิลมองเห็นแนวทางที่จะทำให้ บิ๊ก ดาต้า เป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันธุรกิจ และการเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตลอดจนการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสู่เศรษฐกิจแบบดิจิตอล อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับคู่แข่งนานาประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่วนมากในไทยยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ บิ๊ก ดาต้า และไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นศึกษาข้อมูลของ บิ๊ก ดาต้า ตลอดจนการนำมาประยุกต์ใช้ได้จากที่ใด เนื่องจากบุคลากรด้าน บิ๊ก ดาต้า ทุกแขนงในเมืองไทยยังขาดแคลนอยู่มาก สวนทางกับตลาด บิ๊ก ดาต้าที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ปี 2558 ระบุว่าในจำนวนองค์กรธุรกิจทั่วโลก 1,000 ราย จะมีจำนวน20% เริ่มวางกลยุทธ์ที่เน้นด้าน Information Infrastructure โดยเฉพาะ ส่วนไอดีซีสรุปว่า ปี 2557 ตลาดรวม บิ๊ก ดาต้าทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตสูงกว่าภาพรวมตลาดไอทีถึง 6 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าในปัจจุบันองค์กรใหญ่ๆ เกือบ 70% ต้องซื้อข้อมูลจากภายนอกมาวิเคราะห์และคาดว่า 4-5 ปีข้างหน้า ทุกองค์กรขนาดใหญ่ต้องซื้อข้อมูลเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ผล ซึ่งแนวโน้มในเมืองไทยน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตบุคลากรด้านนี้ได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ นั่นจึงเป็นที่มาของการที่จีเอเบิลจับมือกับมจธ.เปิด BX ขึ้น”
ความร่วมมือของกลุ่มบริษัทจีเอเบิลกับมจธ.ในการก่อตั้งศูนย์ “บิ๊ก ดาต้า เอ็กซ์พีเรียนซ์” แห่งแรกในประเทศไทยจึงถูกดำริขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้บริการด้าน บิ๊ก ดาต้า อย่างครบวงจร ภายในศูนย์มีเครื่องมือและอุปกรณ์ โดยเฉพาะห้องวิจัยด้าน บิ๊ก ดาต้า มีผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติงานอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientists) ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ โดยองค์กรธุรกิจต่างๆ หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ BX เพื่อพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ร่วมกันค้นหากระบวนการด้าน บิ๊ก ดาต้า ที่เหมาะสม และเริ่มต้นโครงการต่างๆ ได้ทันที นอกจากนี้ภายในศูนย์ยังมีพื้นที่สำหรับการนำเสนอแนวคิด ผลิตภัณฑ์ หรือบริการทางเทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่สำหรับการจัดอภิปรายและการประชุมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ด้าน บิ๊ก ดาต้า ทั้งนี้ศูนย์ BX ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาเข้าเยี่ยมชมและใช้บริการ เพื่อศึกษาค้นคว้าศาสตร์ของ บิ๊ก ดาต้า กับผู้เชี่ยวชาญ มีการจัดเวิร์คช็อปและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เป็นประจำให้กับสมาชิก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน นอกเหนือไปจาก มจธ. และกลุ่มบริษัท G-ABLE ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งแล้ว ศูนย์ BX ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทางเทคโนโลยีระดับสากลมากมายไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม (IBM), ไมโครซอฟต์(Microsoft) , อีเอ็มซี-พิโวทัล (EMC-Pivotol), อินฟอร์เมติก้า (Informatica), คลาวเดรา (Cloudera), ออราเคิล (Oracle), ซิสโก้(Cisco), แท็บโบล (Tableau), อินไซด์อิร่า(Insightera) และซีเอ (CA) โดยปัจจุบัน ศูนย์ BX สามารถให้บริการด้าน บิ๊ก ดาต้า กับองค์กรธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ ธุรกิจการผลิต ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจค้าปลีก และการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์ BX จะเป็นสถานที่ให้ความรู้ให้กับนักศึกษา ให้มีโอกาสศึกษากระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลตั้งแต่ระดับแนวคิดไปจนถึงการปฏิบัติ จากการเรียนรู้จากโลกธุรกิจที่แท้จริง ตลอดจนองค์กรธุรกิจต่างๆ สามารถนำปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้าน บิ๊ก ดาต้า มาหารือกับเจ้าหน้าที่ โดยศูนย์ BX จะมอบหมายให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหรือชั้นเรียนทดลองแก้ปัญหาหรือสร้างต้นแบบโซลูชั่นด้าน บิ๊ก ดาต้า ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีประสบการณ์สูง องค์กรธุรกิจจะได้รับบทวิเคราะห์และรายงานสรุปของปัญหาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โครงการฝึกอบรมหรือชั้นเรียนเช่นนี้จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากปัญหาจริงของโลกธุรกิจ และช่วยให้พวกเขาพร้อมกับการปฏิบัติงานจริงทางด้าน บิ๊ก ดาต้า และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในด้าน บิ๊ก ดาต้า ของประเทศไทยต่อไป” รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
“ศูนย์ BX จะเป็นสถานที่สร้างบุคลากรด้าน บิ๊ก ดาต้า ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นอาชีพที่สำคัญและเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในตลาดแรงงาน รวมถึงเป็นสถานที่บ่มเพาะนวัตกรรมด้าน บิ๊ก ดาต้า ในประเทศไทย ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า และมีความพร้อมต่อโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่เปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัทจีเอเบิลและมจธ. พันธมิตรทางเทคโนโลยี และภาคส่วนต่างๆ จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ โดยเราตั้งเป้าว่าจะมีผู้ลงทะเบียนและใช้บริการของศูนย์ทั้งจาก ภาครัฐ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย ภายในปีนี้" นายนาถกล่าวสรุป
ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครสมาชิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ www.bigdataexperience.org