โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ข่าวทั่วไป Tuesday March 3, 1998 15:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2541 นายกอบศักดิ์ ชุติกุล โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่ศูนย์ข่าวกระทรวงการต่างประเทศในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.การเยือนอินโดนีเซียของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีกำหนดเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ โดยมีกำหนดออกเดินทางในวันที่ 1 มีนาคม เที่ยวบินที่ TG 409 เวลา 15.05 น. และเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 2 มีนาคม 2541 โดยเที่ยวบินที่ TG 986 เวลา 15.25 น. โดยในช่วงเช้าของวันที่ 2 มีนาคม 2541 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าพบประธานาธิบดีซูฮาร์โต คณะที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้มี 6 คน ประกอบด้วย ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวรากรณ์ สามโกเศศ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วัตถุประสงค์ในการเยือนครั้งนี้เพื่อหารือเรื่องวิกฤตการณ์ด้านการเงินในทวีปเอเชีย และมาตรการที่จะนำมาแก้ไขต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรอบของอาเซียน และเพื่อแสดงความขอบคุณต่อบทบาทของอินโดนีเซียในการให้การสนับสนุนโครงการ IMF ในช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินในเดือน กรกฎาคม 2540 ในการเยือนครั้งนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบข้าว 5,000 ตัน และเวชภัณฑ์ มูลค่า 1 ล้านบาท ต่อฝ่ายอินโดนีเซียด้วย
2.คณะล่วงหน้าเตรียมการเยือนสหรัฐฯ ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี คณะล่วงหน้าเตรียมการเยือนสหรัฐฯ ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสหรัฐฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 และเดินทางกลับในวันที่ 7 มีนาคม 2541 โดยมี ฯพณฯ ม.ร.ว สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะ คณะเตรียมการฯ ประกอบด้วยนายกกอบศักดิ์ ชุติกุล อธิบดีกรมสารนิเทศ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ 2 คน วัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้านสำหรับการการเยือนสหรัฐฯที่นครนิวยอร์ก กรุงวอชิงตัน และนครลอสแอนเจลิส และในวันเสาร์ที่ 7 มีนาคม เวลา 13.00 น. คณะเตรียมการฯ จะได้รายงานผลการเยือนต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเต็มคณะที่จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ
อนึ่งนาย วิลเลี่ยม พี คีล (William P.Kiehl) ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารอเมริกัน (Unitcd States Information Service-USIS) ได้แถลงเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและคณะทาง USIS จะอำนวยความสะดวกให้แก่กระทรวงการต่างประเทศและผู้สื่อข่าวไทย โดยการให้ข้อมูล การแถลงข่าว รวมทั้งการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ด้วย
3. การเปิดสถานเอกอัครราชทูตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพฯ โดยนายคาลิด คาลิฟา อัล โมลลา (Khalid Khalifa Al Moalla) อุปทูตกำหนดเดินทางถึงประเทศไทยในวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของสหรัฐอาหรับฯ และเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอดสินค้าส่งออกของไทยได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ข้าว ผ้าผืน เส้นใย รองเท้า ส่วนสินค้านำเข้าจากสหรัฐอาหรับฯ ได้แก่น้ำมัน และสินแร่โลหะต่าง ๆ ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับฯ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2518 ประเทศไทยเปิดสถานกงสุดใหญ่ ณ เมืองดูไบ เมื่อเดือนมกราคม 2535 และเปิดสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537
- การจัดสัมมนาปัญหาติมอร์ตะวันออก จากการสอบถามผู้จัดการประชุมถือ Foram Asia ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของไทย จะร่วมกับสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยจัดประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในติมอร์ตะวันออก ในวันที่ 2-3 มีนาคม 2541 ที่ YMCA ในการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการปฎิบัติตามแนวทางกระบวนการของสหรัฐประชาชาติในการแก้ไขปัญหา โดยถือว่าเป็นกิจกรรมในส่วนเสริมความพยายามในกรอบของสหประชาชาติ เพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และในวันที่ 4-6 มีนาคม 2541 เป็นการประชุมต่อเนื่อง จัดโดยมูลนิธิสภาวัฒนธรมเพื่อการพัฒนา ซึ่งมี ดร.โคทม อารียา เป็นประธานมูลนิธิ ส่วนที่มีข่าวเรื่องการประชุม APCET ครั้งที่ 3 ที่เป็นการประชุมต่อจากที่กรุงมะนิลา และกัวลาลัมเปอร์ ตามลำดับนั้น องค์กรเอกชนของไทย แจ้งว่าไม่มีส่วนรับรู้เรื่องการประชุมดังกล่าวและจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นการประชุม APCET หรือไม่ รวมถึงยังไม่ทราบว่าจะเป็นการจัดขึ้นเองนอกกรอของการสัมมนาที่องค์กรของไทยเป็นผู้จัด กระทรวงการต่างประเทศถือว่าการประชุม APCET ครั้งที่ 3 ถ้ามีการจัดการประชุม ผู้จัดจะต้องปฎิบัติตามระเบียบให้ถูกต้องคือถ้าองค์กรต่างจะจัดการประชุมต้องแจ้งทางการไทยทราบล่วงหน้าก่อนวันจัด 30 วัน และไม่ใช้ดินแดนของไทยในการสร้างความแตกแยก หรือบ่อนทำลายความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ และควรเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะเชิงวิชาการที่ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทั่วกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ