กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
ก.พลังงาน เดินหน้าส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนระดับชุมชน เทงบ 67 ล้านบาท ผลักดัน Community ESCO Fund แบบร่วมทุนบางส่วน 25 โครงการ หวังผลิตไฟฟ้าได้ 300 กิโลวัตต์ และแบบให้เปล่า อาทิ ผลิตเครื่องทำน้ำร้อนแสงอาทิตย์ใน 4 จังหวัด และกังหันลมผลิตไฟฟ้าใน 8 จังหวัด ก๊าซชีวภาพ 4 จังหวัด ย้ำเตรียมเสริมศักยภาพพลังงานทดแทนชุมชนทั่วประเทศขยายผลต่อเนื่อง
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจะใช้งบประมาณรวม 67 ล้านบาท เร่งส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในระดับชุมชน หรือ Community ESCO Fund โดยใช้งบประมาณสนับสนุนด้านการเงินลงทุนร่วมกับชุมชนในรูปแบบสนับสนุนบางส่วน วงเงิน 47 ล้านบาท ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันต้นแบบชุมชนพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนระดับชุมชนเพิ่มขึ้น อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ก๊าซชีวภาพ และขยะเป็นต้น โดยกำหนดเป้าหมายเบื้องต้นให้ได้ 25 โครงการ เพื่อผลิตพลังงานทดแทนได้ 300 กิโลวัตต์
รวมทั้ง โครงการสนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน สนับสนุนเงินแบบให้เปล่า วงเงินรวม 20 ล้านบาท เพื่อเป็นกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นการบูรณาการนโยบายด้านพลังงานทดแทนคู่ไปกับการวิเคราะห์ศักยภาพในแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนเครื่องทำน้ำร้อนแสงอาทิตย์ 4 จังหวัด กังหันลมผลิตกระแสผลิตไฟฟ้า 8 จังหวัด ก๊าซชีวภาพ 4 จังหวัด และเครื่องผลิตไบโอดีเซลใน 4 จังหวัด ซึ่งโครงการไบโอดีเซลนี้ ได้ก่อสร้างเรียบร้อยแล้วทั้ง 4 แห่ง และโครงการอื่นๆ มีความคืบหน้าตามลำดับ
ทั้งนี้ การสนับสนุนเงินลงทุน Community ESCO Fund แบบบางส่วน ผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็น นิติบุคคลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กลุ่มสหกรณ์ เทศบาล กลุ่มองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และมูลนิธิ โดยรัฐจะสนับสนุนงบประมาณเพียงบางส่วน และนิติบุคคลที่เข้าร่วมจะต้องลงทุนเองในส่วนที่เหลือ ด้านการสนับสนุนแบบให้เปล่า ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ หน่วยงานราชการ โครงการพระราชดำริ หรือ ศูนย์การเรียนรู้ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชน กลุ่มองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้เสนอโครงการผ่านการพิจารณาจาก พลังงานจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ เป็นต้น
"เพื่อให้สอดคล้องกับการวางแผนบริหารจัดการพลังงานระดับประเทศ กระทรวงพลังงานจึงได้ผลักดันยุทธศาสตร์การวางแผนพลังงานระดับชุมชน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างความคิดด้านพลังงานด้วยบริบทการเพิ่มการมีส่วนร่วมของในระดับท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น ๆ ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานหรือสร้างสรรค์พลังงานที่เกิดจากภายในท้องถิ่นเอง โดยกระทรวงพลังงานคาดหวังว่า ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านพลังงาน และการต่อยอดขยายผลความรู้ที่เกิดจากการยอมรับของชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้น จะช่วยเชื่อมโยงไปสู่การวางแผนพลังงานในระดับประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานต่อไป" นายสราวุธกล่าว