กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ กว่าวว่า สภาพแวดล้อมการดำเนินงานภายในประเทศไทยที่ได้ปรับตัวอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้อัตราการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกและจะเป็นปัจจัยที่บั่นทอนผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยในครึ่งหลังของปี 2558 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และอัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์โดยรวมก็น่าจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจมหภาคได้ และไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร แต่ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจมหภาคยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ และการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าคาดการณ์หรือการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย สามารถที่จะส่งผลให้อัตราส่วนฐานะทางการเงินที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวแย่ลงอย่างมากภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ทั้งนี้ฟิทช์ยังคงแนวโน้มเป็นลบสำหรับภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย
ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศออกมาสำหรับไตรมาสล่าสุด บ่งชี้ถึงความท้าทายในด้านสภาพแวดล้อมของการดำเนินงานที่ธนาคาราพาณิชย์ไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ ส่งผลให้ภาคการส่งออกและการผลิตชะลอตัว นอกจากนี้ดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่สำคัญ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรม ยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ อีกทั้งหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงน่าจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการเติบโตของสินเชื่อธนาคาร
ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 7 แห่ง (ซึ่งรวมกันมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 81% ในด้านสินเชื่อ) คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีฯ ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระหว่างช่วงครึ่งแรกของปี 2558 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารทั้ง 7 แห่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3% ณ สิ้น เดือนมิถุนายน 2558 จาก 2.8% ณ สิ้นปี 2557 ในขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (สำหรับธนาคาร 4 แห่งที่มีการเปิดเผย) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% จาก 2.6 % ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลงส่งผลกระทบต่อผลกำไร โดยกำไรสุทธิรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 1.5% จาก 1.58% ในปี 2557 การเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ 1.1% ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2558 ซึ่งสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่อ่อนแอและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ตามระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 7 แห่ง ไม่มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัจจัยบวก และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Common Equity Tier 1 Ratio) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.1% จาก 12.8% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมของธนาคารทั้ง 7 แห่ง ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 138% ลดลงเล็กน้อยจาก 142% ณ สิ้นปี 2557
ฟิทช์คาดว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะยังคงอยู่ในระดับอ่อนแอต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังปี 2558 และสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญน่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี และอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีผลกำไรที่ลดลงอีก
แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังคงเชื่อว่าอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 7 แห่ง ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ แม้ภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราส่วนสำรองหนี้สูญและอัตราส่วนเงินกองทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ในระดับ 3.5% ในปีนี้ แต่ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง และหากเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์มาก ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวแย่ลงอย่างมากและอย่างรวดเร็ว