กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพลล์) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "ความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศกาลเข้าพรรษาปี 2558" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 1,986 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-25 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมาพบว่า
ในช่วงเทศกาลวันหยุดเข้าพรรษา 2558 ที่จะมาถึงนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 71.6 รับทราบการจัดกิจกรรมวันเข้าพรรษาทางสื่อโทรทัศน์ รองลงมาคือรับทราบจากเพื่อน/ญาติ อินเทอร์เน็ต และวิทยุ ตามลำดับ โดยกิจกรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 ทำยังคงเป็นกิจกรรมทางพุทธศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ไหว้พระ เวียนเทียน รองลงมาคือร้อยละ 29.9 ทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับครอบครัว ในขณะที่ร้อยละ 14.6 จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม และร้อยละ 9.0 จะเดินทางไปเที่ยวในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา และสิ่งที่ตั้งใจจะลด ละ เลิกในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา (วันที่ 31 กรกฎาคม - 26 ตุลาคม 2558 ) ประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 60.3 ระบุว่าในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ไม่ได้ตั้งใจลด ละ เลิก สิ่งใดคือปฏิบัติตัวเหมือนทุกๆ วัน แต่ก็ยังมีประชาชนไม่น้อยหรือร้อยละ 38.2 ที่ระบุว่าตั้งใจจะลดเหล้า รองลงมาคือร้อยละ 20.1 ตั้งใจจะรักษาศีลอย่างเคร่งครัด และร้อยละ 19.5 ตั้งใจจะงดบุหรี่
สิ่งที่น่าสังเกตคือประชาชนเกือบร้อยละ 80 ระบุว่าในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่หยุดยาวจะอยู่บ้านไม่ได้เดินทางไปไหน ที่เหลือมีเพียงร้อยละ 20.4 ระบุว่าจะเดินทางกลับภูมิลำเนา เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือเดินทางไปต่างประเทศ และส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ส่วนตัว รถเพื่อน ญาติพี่น้อง ในการเดินทาง สำหรับปัจจัยที่ใช้ในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวโดยสอบถามเฉพาะผู้ที่วางแผนว่าจะไปเที่ยวคือ ร้อยละ 25.0 ตัดสินใจเลือกเพราะความสะดวกในการเดินทาง รองลงมาร้อยละ 17.0 เลือกเพราะสถานที่ท่องเที่ยวนั้นเป็นที่นิยม และร้อยละ 15.8 เลือกแพราะความปลอดภัยของสถานที่
ส่วนจำนวนเงินที่เตรียมไว้ใช้ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.0 ไม่ได้เตรียมค่าใช้จ่ายไว้สำหรับช่วงเทศกาลเข้าพรรษา มีเพียงร้อยละ 18.0 เท่านั้นที่เตรียมค่าใช้จ่ายไว้เฉลี่ยประมาณ 11,000 บาท โดยแบ่งเป็น ค่าแพกเกจทัวร์ประมาณ 1,895 บาท ค่าที่พักประมาณ 1,695 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 1,593 บาท ค่าอาหาร 1,361 บาท ให้พ่อม่ให้ญาติพี่น้อง 1,276 บาท และทำบุญประมาณ 779 บาท เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อสอบถามตัวอย่างถึงสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าโดยส่วนใหญ่คือร้อยละ 62.3 และร้อยละ 59.7 ระบุว่าเศรษฐกิจของครอบครัวยังคงเหมือนเดิมและคาดว่าน่าจะเหมือนเดิม ตามลำดับ ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีการจับจ่ายใช้สอยเท่าเดิมหรือร้อยละ 61.7 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้เดินทางไปไหน มีการใช้จ่ายอย่างประหยัด และ 1 ใน 5 มีการใช้จ่ายลดลงหรือร้อยละ 19.8 สืบเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี มีรายได้น้อยลงประกอบกับราคาสินค้าแพงขึ้น
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลรณรงค์ให้เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้แก่ การงดเหล้าเข้าพรรษา/งดดื่มแอลกอร์ฮอล์/ห้ามร้านค้าขายเหล้าคิดเป็นร้อยละ 54.1 รองลงมาคือร้อยละ 31.4 อยากให้จัดกิจกรรมทางศาสนา/ปฎิบัติธรรม และร้อยละ 11.0 ต้องการให้รณรงค์เมาไม่ขับ ตามลำดับ
ประเด็นสุดท้ายที่พิจารณาคือสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดย 3 อันดับแรกที่ต้องการให้เร่งดำเนินการแก้ไข ได้แก่ แก้ปัญหาสินค้าแพง ค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 52.6) รองลงมาคือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (ร้อยละ 12.4) และเพิ่มค่าแรง และส่งเสริมด้านการสร้างงาน (ร้อยละ 11.9) ตามลำดับ
ข้อค้นพบจากผลสำรวจคือในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นวันหยุดยาวแต่คนส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะอยู่บ้าน ไม่เดินทางไปไหน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และไม่มั่นใจเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรทำให้ไม่กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปได้ด้วยดี และเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนให้มีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลควรเร่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ได้แก่ แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ปรับระบบเศรษฐกิจ เพิ่มค่าแรง ส่งเสริมด้านการสร้างงาน แก้ปัญหาสินค้าเกษตร เป็นอันดับต้นๆ เพื่อส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศดีขึ้น