กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอะไร? เห็นอย่างไร? กับการปรับคณะรัฐมนตรี : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,020 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2558
ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 55.4 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 30.5 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.6 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 3.9 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.6 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นคำถาม ด้วยการสอบถามถึงความพึงพอใจของแกนนำชุมชนถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านความมั่นคง ผลการสำรวจพบว่า กระทรวงด้านความมั่นคงที่ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูงที่สุดได้แก่ กระทรวงมหาดไทย โดยได้ 8.35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ กระทรวงกลาโหม ได้ 8.30 คะแนน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ 7.80 คะแนน ในขณะที่กระทรวงแรงงานได้ 7.79 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทั้งนี้เมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านความมั่นคงโดยภาพรวมพบว่า ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 8.28 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
สำหรับความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ผลการสำรวจพบว่า กระทรวงด้านเศรษฐกิจที่ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ 7.71 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ กระทรวงคมนาคมและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ 7.68 คะแนนเท่ากัน กระทรวงพลังงาน ได้ 7.52 คะแนน กระทรวงการคลังได้ 7.36 คะแนน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ 7.25 คะแนน ในขณะที่กระทรวงพานิชย์ได้ 7.22 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทั้งนี้เมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านเศรษฐกิจโดยภาพรวมพบว่า ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 7.54 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
นอกจากนี้ ความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านสังคม ผลการสำรวจพบว่า กระทรวงด้านสังคมที่ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข โดยได้ 8.04 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ 7.86 คะแนน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ 7.73 คะแนน ในขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ 7.57 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทั้งนี้เมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านสังคม โดยภาพรวมพบว่า ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 7.76 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
และเมื่อสอบถามความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านการต่างประเทศ กฎหมายและวัฒนธรรมนั้น พบว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับคะแนนความพึงพอใจสูงที่สุด โดยได้ 8.05 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ 7.95 คะแนน กระทรวงยุติธรรมได้ 7.88 คะแนน และกระทวรงการต่างประเทศ ได้ 7.56 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านการต่างประเทศ กฎหมายและวัฒนธรรมโดยภาพรวมพบว่า ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 7.88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบคะแนนความพึงพอใจโดยภาพรวมต่อการดำเนินงานตามนโยบายด้านต่างๆ นั้นพบว่า ผลการดำเนินงานของกระทรวงด้านความมั่นคง ได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 8.28 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือกระทรวงด้านการต่างประเทศ กฎหมาย และวัฒนธรรม ได้ 7.88 คะแนน กระทรวงด้านสังคมได้ 7.76 คะแนน และกระทรวงด้านเศรษฐกิจได้ 7.54 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้แกนนำชุมชนได้ให้คะแนนความพึงพอใจผลงานโดยรวมของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 8.02 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ แกนนำชุมชนได้สะท้อนความคิดเห็นต่อการดำเนินงานที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ควรแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนเห็นผลงานมากขึ้น ซึ่งผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 36.6 ระบุการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวม ร้อยละ 32.7 ระบุการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ราคาผลผลิต รายได้ตกต่ำ ร้อยละ 27.6 ระบุการบริหารจัดการน้ำ / ปัญหาขาดแคลนน้ำ /การจัดหาแหล่งน้ำให้ประชาชน/ภัยแล้ง ร้อยละ 23.0 ระบุปัญหาปากท้องของประชาชน/การช่วยเหลือประชาชน/รายได้ของประชาชน/ความเป็นอยู่ของประชาชน/ที่ดินทำกินของประชาชน/ปัญหาการว่างงานของประชาชน/ค่าครองชีพ ร้อยละ 12.1 ระบุปัญหายาเสพติด /ลงมาแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน และร้อยละ 8.3 ระบุเรื่องการทุจริต คอรัปชั่น/ความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 36.1 ระบุเห็นว่า ควรปรับ โดยให้เหตุผลสรุปได้ว่า บางกระทรวงยังทำงานไม่เป็นระบบและไม่เต็มที่ ควรปรับเปลี่ยนตามบทบาทหน้าที่ให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ คณะรัฐมนตรีบางส่วนยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน อยากให้แต่ละกระทรวงมีผู้เชี่ยวชาญมารับผิดชอบดูแล และทำงานล่าช้าบางกระทรวงยังไม่เห็นผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรม ในขณะที่ แกนนำชุมชน ร้อยละ 36.5 ระบุไม่ควรปรับ เพราะสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง ยังไม่เข้าที่เข้าทางอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย ส่งกระทบให้การทำงานล่าช้า ไม่ต่อเนื่อง มีเวลาทำงานไม่มาก ทำได้แค่นี้ก็ดีมากแล้ว อยากให้การร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยก่อน ทำงานเป็นระบบดีแล้ว งานกำลังเดินหน้า ไม่อยากให้สะดุด อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนร้อยละ 27.4 ระบุว่าไม่มีความเห็น แล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจ
คุณลักษณะทั่วไปของแกนนำชุมชนผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 88.9 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 5.4 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 34.7 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 59.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 35.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 45.3 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.5 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 14.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 74.1 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 14.1 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 11.8 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 22.6 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 17.9 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 22.8 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 36.7 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ