กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
โยคะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในโครงการเรือนจำต้นแบบในการนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้โครงการกำลังใจในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภานับเป็นครั้งแรกบนเวทีการแข่งขันโยคะในระดับเอเชียจาก 14 ประเทศ ที่มีผู้ต้องขังหญิงจากเรือนจำแสดงโยคะ ด้วยประสบการณ์ฝึกโยคะเพียง 1-3 ปี สามารถลงสนามระดับนานาชาติ แข่งขันในประเภทต่างๆ ร่วมกับแชมป์ระดับชาติของหลายประเทศ และสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน 2 เหรียญ เหรียญทองแดง 4 เหรียญ และรางวัลชมเชยอีก 12 รางวัล
การแข่งขันโยคะชิงแชมป์อาเซียครั้งที่ 5 จัดโดยสหพันธ์โยคะแห่งเอเชีย ร่วมกับบริษัทครีโยคะ เอเชียจำกัด ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ ระหว่างวันที่19-21มิถุนายน 2558 สำหรับสหพันธ์โยคะแห่งเอเชีย ซึ่งก่อกำเนิดในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าประเทศอินเดีย เป็นประเทศของโยคะ คนอินเดียจะเริ่มเล่นโยคะตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ประเทศอินเดียมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ปัจจุบันโยคะได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง ทั่วโลกจึงได้หันมาเล่นโยคะ ดังนั้นสหพันธ์โยคะแห่งเอเชีย จึงได้มีการจัดแข็งขันโยคะชิงแชมป์อาเชียขึ้น หมุนเวียนเวทีในการจัดแข่งขันไปทั่วภูมิภาคของเอเชีย ซึ่งถือเป็นเวทีการแข่งขันโยคะที่ใหญ่ในระดับโลกอีกหนึ่งเวที การแข่งขันโยคะชิงแชมป์อาเชียครั้งที่ 5 มีผู้เข้าแข่งขันจาก 14 ประเทศเข้าร่วม อาทิเช่น ประเทศอินเดีย ฮ่องกง เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย
สำหรับ ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผู้รับผิดชอบโครงการ และในฐานะครูผู้สอนโยคะให้แก่ผู้ต้องขังหญิง และฝึกซ้อมกำกับการแสดงในการแข่งขัน เปิดเผยว่า "ตนเองมีโอกาสเข้ารับใช้งานในโครงการกำลังใจในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการพัฒนาชีวิตให้กับผู้ต้องขัง จากการที่ได้สัมภาษณ์ผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ บางคนเกิดความเครียดที่ได้เข้ามาอยู่ที่สถานที่แห่งนี้ ด้วยอายุเพียง 18 ปี ที่ต้องเข้ามาใช้ชีวิต เป็นเหมือนฝันร้าย เกิดความทุกข์ภายในจิตใจ บางหลายอยากฆ่าตัวตาย " โดยภายใต้โครงการกำลังใจ ว่าด้วยเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพฯ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง พึงจะได้รับ โดยผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบใด ตนเองคิดว่า "โยคะ" การพัฒนาจากภายในสู่ ภายนอก การควบคุมจิตให้อยู่กับลมหายใจ ฝึกสมาธิ ให้ผู้ต้องขังอยู่กับการเล่นโยคะ ไม่วิตกกังวลกับเรื่องอื่น อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด
กว่า 3 ปี ที่ใช้เวลาในวันที่ไม่มีสอนและไม่มีกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยฯ เข้าไปทำกิจกรรมในโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง ในการสอนโยคะได้ทุ่มเทเวลาเพื่อทำให้ลูกศิษย์เกิดความมุ่งมั่นฝึกฝนโยคะ โดยนำโยคะเข้าไปสอนในแดนหญิงของเรือนจำกลางราชบุรีเป็นที่แรก และได้พัฒนาเรือนจำกลางราชบุรีให้เป็นศูนย์กลาง (hub) ในการฝึกครูโยคะให้กับผู้ต้องขังจากเรือนจำต่างๆ "โยคะในเรือนจำ" นำโยคะเข้ามาเสริมสร้างสุขภาพแบบองค์รวม ช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงมีสุขภาพดีทางร่างกาย มีจิตใจที่สงบเยือกเย็น มีพลังชีวิต ผู้ต้องขังหญิงสามารถสร้างคุณค่าในตนเอง มีสติ พยายามอยู่กับปัจจุบัน ทุ่มเทให้กับการฝึกโยคะ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมา "เวลาที่เดินในเรือนจำผ่านไป โดยที่ผู้ต้องขังไม่ต้องคิดและวิตกกังวล ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ความสุขในพื้นที่จำกัด สุขภาพจิตดีขึ้น ร่างกายดีขึ้น" และเชื่อว่าผู้ต้องขังหญิงจะออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีสติและมีกำลังใจ บางคนสามารถออกไปเป็น "ครูสอนโยคะ" ได้อีกด้วย ในการเข้าไปสอนโยคะในฐานะของครู จะคัดเลือกผู้ต้องขังหญิงจาก 200 คน เหลือ 25 คน เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้ต้องขังหญิงคนอื่นๆ เวลาในการสอนจะเข้าไปสอนในวันจันทร์ –วันศุกร์ วันที่ว่างและไม่ที่งานทีมหาวิทยาลัยฯ โดยในการเข้าไปสอนผู้ต้องขังหญิง จะมีอาจารย์และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เข้าไปช่วยสอนและทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอีกด้วย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงชีวิตของผู้ต้องขังหญิง มีความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ และเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีสติ "การให้โอกาสผู้ต้องขัง ซึ่งบางคนอาจจะตกเป็นเหยื่อ ด้วยความที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
การนำผู้ต้องขังหญิงเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ต้องการให้สังคมยอมรับผู้ต้องขังหญิง ให้โอกาสกับผู้ต้องโทษ ยอมรับในความสามารถ เปิดใจรับเข้าทำงาน ผู้ต้องขังหญิงทั้ง 12 คน ได้รับคัดเลือกจากเรือนจำกลางราชบุรีและเรือนจำกลางอุดรธานี โดยใช้เรือนจำกลางราชบุรีในการเก็บตัว การนำผู้ต้องขังออกไปแข่งขันต้องได้รับการอนุมัติจากกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากเราได้ทราบเรื่องการแข่งขันอย่างกระชั้นชิด ทำให้มีเวลาในฝึกซ้อม จัดเตรียมท่าเพื่อการแข่งขันน้อยมาก แต่เนื่องจากผู้เข้าแข่งขันได้มีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องมาตลอด และด้วยความตั้งใจ ความมุ่งมั่นของผู้ต้องขังหญิง การันตีด้วยรางวัลและเสียงปรบมือจากกรรมการและผู้เข้าชม ผู้ต้องขังหญิงทั้ง12 คนต้องเดินทางออกจากเรือนจำกลางราชบุรีตั้งแต่ตีห้าเพื่อเข้าร่วมแข่งขันทุกวัน ระหว่างวันที่19-21มิถุนายน 2558 และเดินทางกลับในช่วงค่ำของแต่ละวัน แม้จะเหนื่อยกันมาก แต่ทุกคนก็มีความสุข มีกำลังใจ เราต้องการให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่า ในโลกกว้างมีการแข่งขันโยคะระดับโลกกันอย่างไร เป็นการสร้างประสบการณ์ชีวิต เพื่อความภาคภูมิใจที่ได้ก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ เชื่อว่าเขาจะมีกำลังใจที่จะก้าวข้ามอุปสรรค พร้อมที่จะพัฒนาตัวเองสู่โลกกว้าง เมื่อเขาพ้นโทษก็อยากให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ในการดำรงชีวิตและการทำงาน สิ่งสำคัญคือขอให้สังคมได้ให้โอกาสแก่ผู้ที่พ้นโทษ ขอให้คนในสังคมเป็นกุญแจดอกที่สองเพื่อเปิดประตู เปิดใจต้อนรับคนเหล่านี้คืนกลับสู่โลกภายนอกอย่างเห็นอกเห็นใจ ช่วยกันสนับสนุนให้เขามีที่ยืนในสังคมด้วย
"ส้ม อิ๋ว จอย เลป ต้น ตาล หญิง ตรีนุช เปียโน นุช แชร์ จอย" ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ได้รับคำพิพากษาให้ต้องโทษกันหลายปี บางคนมีโทษสูงถึงกว่า 20 ปี ทุกคนได้แสดงความสามารถในการเล่นโยคะประเภทต่างๆ ทั้งการแสดงเดี่ยวและคู่ มีการเลือกเพลงประกอบเป็นเพลงไทยภาคกลางและเพลงพื้นถิ่นเซิ้งอีสาน สร้างความแปลกใหม่ให้กับเวทีการแข่งขันและได้รับเสียงปรบมือระหว่างการแสดงแข่งขันเป็นการเพิ่มกำลังใจให้กับผู้เข้าแข่งขันเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเหรียญเงิน 2 เหรียญที่ได้จากประเภทหญิงคู่ แพ้คะแนนเหรียญทองจากผู้เข้าแข่งขันจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า คนอินเดียเล่นโยคะมาตั้งแต่เด็ก ผู้ต้องขังสามารถคว้าเหรียญเงินมาได้ เพียงการฝึกโยคะประมาณ 3 ปี ถือว่าเก่งมาก รวมไปถึงรางวัลในรายการอื่นๆ ที่ผู้เข้าแข่งขันมาจากตัวแทนประเทศนั่นๆ ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาแล้ว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 ทางเรือนจำกลางราชบุรี จัดกิจกรรม "โยคะบูชาแม่" โดยการแสดงโยคะประกอบเพลงของผู้ต้องขังหญิง 550 คน เวลา 13 นาที เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แม่ของแผ่นดิน บูชาพระคุณแม่ แสดงถึงพลัง ความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ณ เรือนจำกลางราชบุรี ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย กล่าวทิ้งท้าย