กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--Lucky Clover
สำหรับเมนบอร์ดพื้นฐานทั่วไป จะมีซอฟต์แวร์พิเศษที่เรียกว่า BIOS หรือ Basic Input/ Output สำหรับการปรับแต่งตั้งค่าให้กับระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนลำดับการบูต ตั้งค่าฮาร์ดแวร์หรือโอเวอร์คล็อกเพื่อเพิ่มความเร็วให้กับระบบ ซึ่งโดยทั่วๆ ไป BIOS ก็มักจะมีการพัฒนาตัวอัพเดตมาให้เห็นเป็นระยะ ส่วนหนึ่งก็เพื่อการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพหรือเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นหรือเพิ่มความสามารถในการปรับแต่ง แต่ในบางครั้งก็เพื่อให้รองรับกับฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ๆ เช่น ซีพียู ที่ทำให้การใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง อย่างไรก็ดีก่อนที่เราจะรู้ว่าต้องอัพเดต BIOS หรือไม่ ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่า BIOS ตัวเดิมบนเมนบอร์ดนั้นอยู่ในเวอร์ชั่นใด ด้วยการดูข้อมูลในส่วนต่างๆ ดังนี้
1.ดูจากหน้าแรกของ BIOS สำหรับเมนบอร์ดในรุ่นเก่าหรือบางรุ่นที่ยังเป็น BIOS พื้นฐานให้ดูจากหน้าแรกของ BIOS ที่จะบอกข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ที่อยู่บนเมนบอร์ด รวมถึงเวอร์ชั่นของ BIOS ปรากฏอยู่ด้วย
2.ในกรณีที่เป็นเมนบอร์ดรุ่นใหม่ และใช้ไบออส UEFI อย่างเช่น ASRock ก็สามารถดูได้จากหน้า Main ได้ทันที
3.ดูข้อมูลจากบนเมนบอร์ด ผ่านทางสติกเกอร์ที่แปะอยู่บนรอมของ BIOS นั่นเอง
4.ในบางครั้งยังสามารถดูเวอร์ชั่นของ BIOS เมื่อเริ่มบูตเครื่อง ก่อนเข้าสู่ระบบ
5.ใช้โปรแกรมในการตรวจสอบ เช่น CPUz ในแท็ปของ mainboard ก็สามารถตรวจสอบเวอร์ชั่นของ BIOS ได้เช่นกัน
เมื่อได้ทราบว่า BIOS ที่ติดตั้งอยู่บนเมนบอร์ดนั้นเป็นเวอร์ชั่นใดแล้ว ให้เปรียบเทียบกับ BIOS ที่มีอยู่ในเว็บไซต์ของ ASRock หากมีเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่า ก็สามารถดาวน์โหลดมาอัพเดตได้ทันที ทั้งในการอัพเดตอัตโนมัติผ่านซอฟต์แวร์หรือจะเป็นการอัพเดตในแบบปกติด้วยตัวเองได้อีกด้วย
สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ :http://asrock.com/