กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--ไทยออยล์
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 48 - 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 – 31 ก.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งตลาดคาดว่า FED จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิม ประกอบกับตลาดยังคงกังวลถึงอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หลังบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับกลุ่มชาติมหาอำนาจทั้ง 6 โดยมีการส่งออกน้ำมันดิบราว 2 ล้านบาร์เรลมายังตลาดสิงคโปร์เป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากจำนวนแท่นขุดเจาะที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีกครั้ง หลังราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงและต่ำกว่าระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน เม.ย.
?
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 28 – 29 ก.ค. ว่าจะมีมุมมองอย่างไรต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ที่คงอยู่ในระดับต่ำใกล้ศูนย์มาตั้งแต่ปี 2551 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า FED มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน ก.ย. จากถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ที่กล่าวชัดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดำเนินไปด้วยดีในอัตราที่ร้อยละ 1.8 – 2.0 ในปีนี้ ซึ่งอาจจะทำให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในเร็วนี้ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสที่ปรับลดลงมาต่อเนื่องและล่าสุดปรับลดลงมาต่ำกว่าระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ส่งผลให้บริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมันมีแนวโน้มจะชะลอการขุดเจาะอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตมีการเพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะขึ้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 17 แท่น ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของ Baker Hughes พบว่าในครึ่งปีหลังนี้ แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงโดยเฉพาะแหล่งบนบกและแหล่งในน้ำตื้น
หลังจาก อิหร่านและกลุ่มชาติมหาอำนาจทั้งหก (P5+1) สามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ได้เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดสหประชาชาติ (UN) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้การรับรองข้อตกลงดังกล่าวเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร อย่างไรก็ดี ข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วันหลังจากที่มีการอนุมัติ ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปมีมติเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน แต่จะยังคงไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจนกว่าจะเห็นความคืบหน้าจากรายงานของ IAEA ที่จะรายงานในวันที่ 15 ธ.ค. 58 ในส่วนของสหรัฐฯ ข้อตกลงดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่มีกรอบระยะเวลา 60 วันในการพิจารณา ดังนั้นในระยะสั้น 1-2 เดือนนี้ อิหร่านจะไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากนัก โดยนักวิเคราะห์คาดว่าปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้นของอิหร่านจะมาจากน้ำมันดิบที่เก็บอยู่ในเรือบรรทุกน้ำมัน (Floating Storage) ของอิหร่านราว 40 ล้านบาร์เรล และจะเพิ่มจากการเพิ่มอัตราการผลิตราว 3 - 7 แสนบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2559
จับตาการเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศยูโรโซนมูลค่า 8.6 หมื่นล้านยูโร หลังเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภากรีซได้มีมติอนุมัติร่างกฎหมายปฎิรูปเศรษฐกิจฉบับที่ 2 โดยร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการเพิ่มความเข้มงวดให้แก่มาตรการรัดเข็ดขัดมากขึ้นผ่านการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และการให้สหภาพยุโรปเข้ามาบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงินและการรับประกันเงินฝาก อย่างไรก็ดี กรีซจะต้องเจรจากับเจ้าหนี้ให้ได้ก่อนวันที่ 22 ส.ค. 58 เนื่องจากมีกำหนดชำระหนี้มูลค่าราว 3.2 พันล้านยูโร
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิตและบริการ และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราการว่างงานของยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 ก.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 48.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.48 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 54.62 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน ท่ามกลางความกังวลต่อการส่งออกของอิหร่านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากอิหร่านและชาติมหาอำนาจบรรลุข้อตกลงเรื่องจำกัดศักยภาพโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งกดดันราคาน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯที่ปรับลดลง หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเกือบร้อยละ 15 ในช่วงเดือน ก.ค. 58