กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
วันนี้ (27 ก.ค.58) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม Asian Community Mental Health Leadership Forum 2015 (ACMHL) ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี ถนนสีลม กทม. โดยปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุม ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตแห่งประเทศสิงคโปร์ (Institute of Mental Health, Singapore) และ มูลนิธิ เทมาเส็ก (Temasek Foundation) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ทักษะ แนวคิด และประสบการณ์ทางด้านภัยพิบัติ ตลอดจนแสดงผลงานการดำเนินงานพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพสุขภาพจิตชุมชนในเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ จีน อินโดนีเซีย และ ประเทศไทย
รมช.สธ.กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2555 กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้มอบหมายสถาบันกัลยาณ์ ราชนครินทร์ลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์และสถาบันสุขภาพจิตแห่งประเทศสิงคโปร์ และTemasek Foundation จัดทำโครงการพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างศักยภาพสุขภาพจิตชุมชนในเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ (Capacity Building Programme in Community Mental Health in Asia Affected by Disaster) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ และสร้างเสริมศักยภาพด้านสุขภาพจิตของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจ มีความต้านทาน สามารถปรับตัว ช่วยตนเองและคนในชุมชนได้เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปี 2555-2558) โดยมี สถาบันสุขภาพจิตแห่งประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้ประสานงานหลัก ในฐานะ Program Manager และได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก Temasek Foundation, Singapore ซึ่งกำหนดพื้นที่การดำเนินงานไว้ 4 ประเทศ คือ 1. ประเทศสิงคโปร์ โดย Institute of Mental Health, Singapore 2. ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย West China Hospital, Sichuan University 3. ประเทศอินโดนีเซีย โดย Cipto Mangunkusumo, General Hospital, University of Indonesia และ 4. ประเทศไทย โดย สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
กิจกรรมในโปรแกรมนี้ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ 1. การฝึกอบรมผู้นำสำหรับเจ้าหน้าที่บริหารในชุมชน (Senior officers) 2. โปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อผู้ให้การอบรม ( Training of trainers /Master Trainers) และ 3.การสัมมนาผู้บริหารระดับสูงด้านการดำเนินงานวิกฤตสุขภาพจิตจากทั้ง 4 ประเทศที่ร่วมดำเนินงาน (Leadership Forum) จากการดำเนินงานตามโปรแกรม ตลอด 3 ปี มีการอบรมผู้นำสำหรับเจ้าหน้าที่บริหารในชุมชน จำนวน 600 คน เป็นของประเทศไทย 200 คน ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพจาก รพ.สต. ครูในชุมชน เจ้าหน้าที่ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ แกนนำในชุมชน รวมทั้ง มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นวิทยากรหลัก จำนวน 120 คน เป็นของประเทศไทย 40 คน เป็น ทีม MCATT ( Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ทีมให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตของกรมสุขภาพจิต จาก สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ รพ.สวนปรุง และ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ตลอดจน มีการสัมมนาผู้บริหารระดับสูงด้านการดำเนินงานวิกฤตสุขภาพจิตจากทั้ง 4 ประเทศที่ร่วมดำเนินงาน รวม 120 คน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2.38 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ ประมาณ 1.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 60.69 ล้านบาท) รมช.สธ.กล่าว
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุม ตลอด 3 วันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง วิทยากรหลัก และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ จาก ประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ จีน รวม 120 คน โดย ประเทศไทยได้ทำโครงการสร้างชุมชนเข้มแข็ง (Community-Based Worker) ซึ่งเป็นหลักสูตรหนึ่งในโครงการ เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ ในเรื่องภัยพิบัติ และสามารถให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจได้เบื้องต้น ตลอดจน มีความรู้ในการทำแผนเพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติโดยทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ชุมชนบางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม ชุมชนท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนฝางแม่ใจ อ.ปง จ.พะเยา ชุมชนวังไส อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ ชุมชนทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ทักษะ แนวคิด และประสบการณ์ทางด้านภัยพิบัติ ตลอดจนแสดงผลงานความสำเร็จ (Best Practices) ในการดำเนินงานพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพสุขภาพจิตชุมชนในเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันนโยบาย รวมทั้ง พัฒนาและปรับปรุง แนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ให้มีความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ทั้งภัยจากธรรมชาติและภัยจากฝีมือมนุษย์ ได้เป็นอย่างดี อาทิ ประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ที่จังหวัดเชียงราย ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 หรือประเทศอินโดนีเซีย ก็จะเน้นไปที่สุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น โดยวิทยากรหลักและชุมชนจะมีความรู้และทักษะในการจับสัญญาณปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นที่ประสบภัยพิบัติ ขณะที่ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ก็จะมีความหลากหลายของปัญหาที่ต่างกันออกไปในแต่ละชุมชน อันเนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศ วิธีการอบรมให้ความรู้จึงมีความหลากหลาย ทั้ง การบรรยาย การทำกลุ่ม การอภิปราย การเยี่ยมบ้าน เป็นต้น เช่น ชุมชนทางตอนเหนือก็จะเน้นอบรมครูให้มีความรู้และทักษะในการจับสัญญาณเสี่ยงการเกิดบาดแผลทางจิตใจของเด็กและวัยรุ่น ภายหลังเกิดภัยพิบัติ ขณะที่ ชุมชนทางตอนใต้ ก็จะเน้นไปที่การฝึกอบรมให้มีความรู้และทักษะในการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น หรือแม้แต่ ประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่ค่อยประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็ยังได้มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ จากการเผชิญวิกฤต โรคซาร์ส (SARS) ระบาด เมื่อปี 2546 เป็นต้น รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว