กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
กษ. ร่วมกับ หน่วยงานภายใต้การดูแล นำโดย การยางแห่งประเทศไทย (สกย. และ อ.ส.ย.) ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานโครงการ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ "ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน" ชูแนวคิด คุณค่าแห่งสายน้ำ สร้างสวนยางเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนน้ำเสียเป็นพลังงาน วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม 2558 ณ ศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดขอนแก่น ถ.มิตรภาพ ต.คำม่วง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานการเปิดงานครั้งนี้ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขยายผลเป็นรูปธรรมกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แนวพระราชดำริประการหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือ เรื่องน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวทางการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรแก่ราษฎรในท้องถิ่นที่ขาดแคลนน้ำในการประกอบอาชีพ ตลอดจนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้น้อมนำพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมาร้อยเรียงเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณในโครงการ "ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน" ซึ่งทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระองค์ในทุกๆ มิติ และนำเสนอให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมตลอดทั้งปี 2558 เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญต่อสถานการณ์ความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำและภาวะภัยแล้งในปัจจุบัน รวมทั้งเกิดการสร้างความตระหนักของคนในชาติให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ทุกหยดที่มีค่าและหามาด้วยความยากลำบาก ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด และ กยท. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพหลักที่มีความสำคัญในการดูแลและพัฒนาด้านยางพาราอย่างครบวงจร มีการใช้ประโยชน์จากน้ำในการปลูกสร้างสวนยางพารา จนกระทั่งได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าหรือประกอบธุรกิจได้อย่างมากมาย รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับภาคครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมยางพารา เป็นสิ่งสมควรขยายผลต่อไปอย่างยิ่ง ซึ่งกิจกรรมในงานต่างๆ สามารถนำไปเป็นแนวคิดต่อยอดพัฒนา หรือประยุกต์ให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างแท้จริงในชีวิตประจำวัน
นายเชาวลิต อินทรเศียร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น เมืองเสียงแคนดอกคูน เป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน มีคำขวัญของจังหวัดว่า "พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่ สุดเท่ห์เหรียญทองมวยโอลิมปิก" ทั้งนี้ จ.ขอนแก่น มีเนื้อที่ 10,885.99 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 6.8 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นมีพื้นที่ทางการเกษตรกร 4,369,043 ไร่ พื้นที่ปกครอง 26 อำเภอ 198 ตำบล ซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน 614,680 ไร่ จำนวนคนทำงานในภาคเกษตร 312,487 คน ในจำนวนพื้นที่ทางการเกษตร มีพื้นที่ปลูกยางพารา 94,846 ไร่ เกษตรกรชาวสวนยาง 6,745 ครัวเรือน เป็นเมืองท่องเที่ยวมีสถานที่สำคัญ เช่น วัดป่าแสงอรุณ วัดหนองแวงพระอารามหลวง วัดพระพุทธบาทภูพานคำ ถ้ำค้างคาว ภูผาม่าน เขื่อนอุบลรัตน์ ปราสาทเปือยน้อย ผานกเค้า บางแสน 2 พัทยา 2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น หมู่บ้านงูจงอาง บ้านโคกสง่า อ.น้ำพอง หมู่บ้านเต่า อ.มัญจาคีรี นอกจากนี้ ยังมีอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อุทยานแห่งชาติภูเวียงซึ่งค้นพบไดโนเสาร์ ภูเวียงโก ซอ รัส สิรินธรเน่ อีกด้วย มียุทธศาสตร์ให้จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองแห่งการประชุมสัมมนา Khon kaen Mice city ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ นับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ จ.ขอนแก่นอีกช่องทางหนึ่งด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวม
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ปฏิบัติงานในกิจการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในนามของการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. (ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และ องค์การสวนยาง) ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 ภายใต้โครงการ "ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน" ณ ศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดขอนแก่น ภายใต้แนวคิด "คุณค่าแห่งสายน้ำ สร้างสวนยางเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนน้ำเสียเป็นพลังงาน" ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ กยท. จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการแสวงหาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการรับรู้ข้อมูลและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร โดยภายในงาน จะมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย ได้แก่ การจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการการทำสวนยางแบบเกษตรผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยแสดงระบบการใช้น้ำ การสูบน้ำบาดาลด้วยเครื่องปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ภาคอีสานที่ขาดแคลนแหล่งน้ำบนดิน การใช้วัสดุปูพื้นบ่อน้ำด้วยยางพาราป้องกันการรั่วซึมของน้ำ การเปลี่ยนน้ำเสียในอุตสาหกรรมยางพาราเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรมยางร่วมกับการใช้ไม้ฟืนและใช้หุงต้มอาหาร ช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมถึงเป็นการดำรงชีพอย่างพอเพียง
นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงาน ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านยางพาราผ่าน 8 ฐานเรียนรู้ ฐานเรียนรู้การผลิตพันธุ์ยาง ซึ่งมีการจัดการระบบการให้น้ำโดยใช้สปริงเกอร์ และใช้ชุดควบคุมเวลาการให้น้ำแบบอัตโนมัติเพื่อประหยัดการใช้น้ำและแรงงาน ฐานเรียนรู้การปลูกยาง การดูแลรักษา พืชแซม พืชคลุมดิน เป็นการจัดแสดง สาธิตการดูแลรักษาสวนยางในระยะก่อนให้ผลผลิต การปลูกยางเพื่อใช้ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะของพันธุ์ยางจำนวน 11 สายพันธุ์ โดยมีการแสดงการใช้ระบบการให้น้ำแบบน้ำหยด และเทปน้ำพุ่ง ซึ่งจะทำให้การใช้น้ำได้ประโยชน์กับพืชแซม พืชร่วมยาง และยางพาราในเวลาเดียวกัน ฐานเรียนรู้การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นการจัดแสดงและสาธิตการดูแล การบำรุงรักษาสวนยางในระยะให้ผลผลิต และอื่นๆ เป็นการแนะนำการเพิ่มผลผลิตในช่วงหน้าแล้ง และในระยะฝนทิ้งช่วง ด้วยการให้น้ำ แบบสปริงเกอร์จากแหล่งน้ำบาดาล โดยใช้เครื่องปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำ ทำให้ประหยัดพลังงานและเหมาะสำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขาดแคลนแหล่งน้ำบนดิน ฐานเรียนรู้การแปรรูปผลผลิตยางขั้นต้น ฐานเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ฐานเรียนรู้หลุม โดยมีการจัดการระบบน้ำด้วยการใช้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์ในหลุมเดียวกัน ทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ฐานเรียนรู้บ้านวิถีบ้านวิถีชีวิตชาวสวนยาง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการจัดจำลองบ้านวิถีชีวิตชาวสวนยาง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและจัดการระบบน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการใช้น้ำแบบน้ำหยด แบบมินิสปริงเกอร์ การคลุมโคนด้วยฟางข้าว เพื่อลดการสูญเสียน้ำ การใช้น้ำร่วมกันระหว่าง การเลี้ยงกบกับเลี้ยงปลา และการใช้น้ำจากบ่อเลี้ยงปลามารดน้ำพืชผักของบ้านวิถีฯ และฐานเรียนรู้การปลูกยางแบบผสมผสาน เป็นการปลูกยางผสมผสานด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจหรือพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลัก เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร มีการสาธิตระบบการจัดการน้ำ โดยการสูบน้ำจากบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมากักเก็บในถังเก็บและบ่อน้ำที่ปูพื้นด้วยยางพาราป้องกันการสูญเสีย การรั่วซึมของน้ำ ซึ่งเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสภาพดินเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ และขาดแคลนแหล่งน้ำ
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ของการยางแห่งประเทศไทย (สกย. และ อ.ส.ย.) ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมทรัพยากรน้ำ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมบูรณาการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในมิติต่างๆ ของภาคการเกษตร ทั้งด้านการจัดการบำรุงดิน การประมง การเลี้ยงสัตว์ การผลิตพืช และการติดตั้งระบบน้ำในแปลง เป็นต้น อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย โดยคาดหวังว่าเกษตรกรและประชาชนทั่วไปน้อมนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำ มาปรับใช้ในการทำเกษตรและชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน