กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--NBTC Rights
จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 16/2558 : ขออนุมัติกรอบวงเงินจัดประมูลคลื่น 1800 และ 900, มาตรการดำเนินการกรณีครบกำหนดลงทะเบียนซิม, ตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินช่วงมาตรการเยียวยาฯ, รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย, การกำกับอัตราค่าบริการด้วยวิธี Price Cap, การปรับปรุงประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 16/2558 วันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องขออนุมัติกรอบวงเงินจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เรื่องมาตรการดำเนินการกรณีครบกำหนดลงทะเบียนซิมสำหรับผู้ใช้บริการในระบบเติมเงิน เรื่องตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินในช่วงใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ เรื่องรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย เรื่องรายงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธี Price Cap เรื่องการปรับปรุงประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ
วาระขออนุมัติกรอบวงเงินจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz
วาระนี้เป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. ขอความเห็นชอบประมาณการกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz รวมทั้งวิธีการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ โดยลักษณะ "วิธีการก่อสร้างพร้อมจัดหาเงินทุน (Turnkey Project)" โดยประมาณการกรอบวงเงินที่ขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กทค. ในครั้งนี้ แบ่งเป็นกรอบวงเงินที่เตรียมการจัดประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz จำนวน 87 ล้านบาท และกรอบวงเงินที่เตรียมการจัดประมูลคลื่นย่าน 900 MHz จำนวน 87 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จจำนวน 174 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่สูงมากทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และตามกรอบวงเงินในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ที่เคยเห็นชอบไว้เดิม
ทั้งนี้ ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz เมื่อปี 2555 มีการใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 31.5 ล้านบาท ขณะที่ในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ที่เคยมีการอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณไว้เดิมนั้นอยู่ที่ย่านละ 44 ล้านบาท ดังนั้นในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นในปลายนี้จึงมีการขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นถึงกว่าเท่าตัว ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าส่วนที่มีการขออนุมัติงบประมาณเพิ่มขึ้นคือในหมวดค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั้งก่อนและหลังการประมูล โดยในแต่ละย่านความถี่มีการขออนุมัติเพิ่มขึ้นจาก 17 ล้านบาท เป็น 60 ล้านบาท หรือขอใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึงย่านละ 43 ล้านบาท แล้วยิ่งถ้าเทียบเคียงกับค่าใช้จ่ายในหมวดเดียวกันเมื่อครั้งจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ราว 7 ล้านบาท เท่ากับในการจัดประมูลครั้งนี้จะมีการใช้งบประมาณเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนสูงขึ้นกว่าเดิมถึงย่านละ 53 ล้านบาท
หากกรอบวงเงินงบประมาณที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาไม่มีความผิดพลาด แน่นอนว่ายอดเงินดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ และอาจเป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายสูงเกินกว่าความจำเป็น ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้
ส่วนการที่ กทค. จะเห็นชอบวิธีการจัดจ้างให้เอกชนผู้รับจ้าง (Organizer) หรืองานโฆษณา และงานประชาสัมพันธ์การประมูลคลื่นความถี่แบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จในลักษณะ Turnkey นั้น ก็ดูจะมีอุปสรรคถึงความเป็นไปได้ว่าสามารถอนุมัติหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันคณะรัฐมนตรีมีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 กำหนดให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่จะดำเนินโครงการที่มีการจัดจ้างให้เอกชนผู้รับจ้าง (Organizer) งานโฆษณา และงานประชาสัมพันธ์ที่มีวงเงินการจัดจ้างตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ต้องรายงานให้คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐทราบก่อนดำเนินการจัดจ้าง และให้คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากเสียจากพิจารณาอนุมัติตามกระบวนการปกติที่สำนักงาน กสทช. มีระเบียบการการจัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว คือระเบียบ กทช. ว่าด?วยการพัสดุ พ.ศ. 2548
วาระมาตรการดำเนินการกรณีครบกำหนดลงทะเบียนซิมสำหรับผู้ใช้บริการในระบบเติมเงิน
31 กรกฎาคม 2558 เป็นวันครบกำหนดที่สำนักงาน กสทช. ขีดเส้นให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนในระบบเติมเงินต้องลงทะเบียนซิมการ์ด โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 พบว่ามียอดผู้ใช้บริการในระบบเติมเงินที่ลงทะเบียนซิมการ์ดแล้วประมาณ 64 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วน 74.85 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ใช้บริการในระบบเติมเงินทั้งสิ้น 87 ล้านเลขหมาย ส่วนผู้ใช้บริการที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ดอีกกว่า 23 ล้านเลขหมายนั้น ประเมินว่าเป็นเลขหมายที่มีการใช้งานประจำอยู่ถึงประมาณ 8.3 ล้านเลขหมาย
สำหรับมาตรการดำเนินการภายหลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 กรณีผู้ใช้บริการที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ดนั้น สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาเพื่อมีมติให้ผู้ให้บริการระงับการให้บริการบางส่วนเป็นระยะเวลา 1 เดือน คือระงับการโทรออก การส่งข้อความ และการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเปิดให้ใช้บริการได้เพียงรับสายและการโทรออกไปยังหมายเลขฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการเร่งรีบมาลงทะเบียนซิมเพื่อให้สามารถกลับมาใช้บริการได้ตามปกติ แล้วหากพ้นช่วงระยะเวลา 1 เดือนหลังจากนี้ ก็ให้ยกเลิกการให้บริการ
แม้สำนักงาน กสทช. จะประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ใช้บริการให้ลงทะเบียนซิมการ์ดมาสักระยะแล้วก็ตาม แต่การกำหนดมาตรการที่เป็นการ "ลงดาบ" ถึงขั้นยกเลิกการให้บริการนั้น ยังเป็นประเด็นถกเถียงว่า กทค. และสำนักงาน กสทช. มีฐานอำนาจที่ทำได้หรือไม่ เพราะตามกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ให้บริการไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลแต่อย่างใด และแม้จะมีข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียน แต่ผู้ให้บริการกลับเปิดให้บริการโดยไม่ต้องลงทะเบียน ดังนั้น การที่ผู้ใช้บริการไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ดตั้งแต่แรกจึงไม่ใช่ความผิดของผู้ใช้บริการเสียทีเดียว แต่เป็นปัญหาที่ผู้ให้บริการและสำนักงาน กสทช. ที่ละเลยมาโดยตลอดด้วย ที่สำคัญหาได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดว่าเมื่อผู้ใช้บริการไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ด ผู้ให้บริการจะต้องยกเลิกการให้บริการ ในทางตรงกันข้าม หาก กทค. หรือสำนักงาน กสทช. มีคำสั่งลงดาบก็อาจเป็นการแทรกแซงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการได้
วาระตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินในช่วงใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ
นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 1800 MHz (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) มาร่วมเกือบสองปี ปัจจุบันยังคงไม่มีการนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ข้อ 7 ของประกาศมาตรการเยียวยาฯ ระบุว่า ในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง ให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐ โดยรายได้ที่หักต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ซึ่งผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ ที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงาน กสทช. นั้น พบว่าในช่วง 1 ปีแรกของการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ คือตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 – 15 กันยายน 2557 บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ผลการตรวจสอบมีรายได้ที่จะต้องนำส่งรัฐประมาณ 4,649 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด จำนวน 4,021 ล้านบาท และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด จำนวน 628 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายของคณะทำงานฯ ดูจะยังไม่ใช่ผลที่สิ้นสุด เพราะดูจะมีปมอยู่ในหลายจุด โดยเฉพาะผลการตรวจสอบดังกล่าวยังไม่ได้รวมถึงค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนทั้งสองรายอ้างว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่บริษัท กสท โทรคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงข่าย กลับเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้มายังสำนักงาน กสทช. นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในส่วนของผลการตรวจสอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ที่พบว่ารายได้ไม่ได้ลดลงตามขั้นบันไดตามปริมาณผู้ใช้บริการที่ทยอยลดลง กล่าวคือในเดือนพฤศจิกายน 2556 และเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัท ทรู มูฟ จำกัด มีรายได้ติดลบประมาณ 50 ล้านบาท แต่รายได้ในเดือนก่อนหน้าและภายหลังเดือนดังกล่าวกลับไม่ติดลบ ซ้ำบางเดือนมีรายได้สูงขึ้นเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท และบางเดือนเพิ่มสูงขั้นเป็นหลายพันล้านบาท เป็นต้น
เรื่องนี้ดูจะเป็นหนังม้วนยาวที่ไม่น่าจะจบได้ง่ายๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะมีการนำรายได้นำส่งเป็นเงินแผ่นดินได้เมื่อไร จำนวนเท่าใด หรือจะลงเอยด้วยการเป็นคดีฟ้องร้องพัลวัน
วาระรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสแรกของปี 2558 พบว่า มีการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด 3,241,760 เลขหมาย ซึ่งคิดเป็น 12.01 เปอร์เซ็นต์ของโควต้าการโอนย้ายเลขหมายทั้งหมดเท่านั้น โดยกลุ่มบริษัท DTN ใช้โควต้าไป 9.61 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่นมาก ส่วนกลุ่มบริษัท AWN ใช้โควต้าไป 1.89 เปอร์เซ็นต์ และผู้ให้บริการรายที่เหลือใช้โควต้าสามารถรวมกันไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 มีลูกค้าทรูมูฟโอนย้ายออกจากระบบไปยังเครือข่ายอื่นน้อยมาก กล่าวคือ มีการโอนย้ายไปยัง CAT 3G จำนวน 39,335 เลขหมาย และ Real Future จำนวน 1,607 เลขหมาย รวม 40,000 กว่าเลขหมายเท่านั้น ซึ่งดูจะไม่สอดรับกับสถานการณ์ที่บริษัททรูมูฟต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าโอนย้ายออกจากระบบไปยังเครือข่ายอื่นให้ทันก่อนประกาศมาตรการเยียวยาฯ คลื่น 1800 MHz สิ้นผลบังคับใช้ ซึ่งเดิมทีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้สิ้นสุดในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ก่อนที่จะมีการขยายระยะเวลาออกไปอีกจนกระทั่งที่จะมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายฯ ไตรมาสนี้ยังมีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยถึงเหตุที่ไม่มีการรายงานยอดตัวเลขผู้ใช้บริการคงเหลือในระบบ 2G ของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอล โฟน รวมถึงของบริษัทเอไอเอสที่สัญญาสัมปทานกำลังจะสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ ซึ่งมีเหตุจำเป็นที่ต้องโอนย้ายผู้ใช้บริการออกจากระบบไปยังเครือข่ายอื่นด้วยเช่นกัน ทั้งที่รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่ผ่านๆ มามีการรายงานสถิติเหล่านี้มาโดยตลอด
วาระรายงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธี Price Cap
สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธีการ Price Cap เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะนำมาใช้ทดแทนมาตรการกำกับดูแลแบบเดิมที่เป็นการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงในแต่ละหน่วยบริการ โดยวิธีการ Price Cap นี้ เป็นการกำกับค่าบริการโทรคมนาคมจากดัชนีราคา (Price Index) ด้วยการคำนวณจากดัชนีราคาปีก่อนหน้า เงินเฟ้อ และปัจจัยด้านประสิทธิภาพ ดังนั้นหากเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าปัจจัยด้านประสิทธิภาพ ดัชนี Price Cap ก็จะสูงขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าผู้ให้บริการสามารถขึ้นราคาค่าบริการได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าดัชนี Price Cap ที่สำนักงาน กสทช. คำนวณขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในแง่กฎหมายก็มีความไม่ชัดเจนว่าการกำกับดูแลค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธีการ Price Cap นั้น สามารถกระทำได้หรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ระบุให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บ แต่การกำกับดูแลด้วยวิธีการ Price Cap อาจมิใช่การกำหนดอัตราขั้นสูงตามนัยที่กฎหมายกำหนด
ในขณะที่วิธีการ Price Cap ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอก็ยังค่อนข้างคลุมเครือ เพราะไม่มีการระบุว่าปัจจัยด้านประสิทธิภาพที่เป็นตัวแปรสำคัญนั้นคืออะไร คำนวณอย่างไร ในการคำนวณดัชนีราคา สำนักงาน กสทช. ก็ไม่มีการขอข้อมูลราคาค่าบริการใดๆ จากผู้ให้บริการเลยเป็นเพียงการขอข้อมูลรายได้และปริมาณการใช้มาคำนวณเท่านั้น อีกทั้งกระบวนจัดทำหลักเกณฑ์ที่ผ่านมาก็จัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความเห็นเฉพาะจากบริษัทผู้ให้บริการเท่านั้น ไม่เคยพูดคุยหรือรับฟังความเห็นจากตัวแทนกลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และที่สำคัญหากมีการนำวิธีการ Price Cap มาใช้จริง ก็ต้องมีการศึกษาต้นทุนการให้บริการ และความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนและราคาค่าบริการใหม่ เพื่อให้ราคาค่าบริการที่จะกำหนดขึ้นในปีแรกของการกำกับดูแลเป็นราคาที่สะท้อนความมีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการในปีถัดไปสะท้อนความมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงมองไม่ออกเลยว่ารายงานการศึกษาฉบับนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติและใช้กำกับดูแลราคาค่าบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมและธรรมกับผู้บริโภคได้อย่างไร
นอกจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอัตราค่าบริการด้วยวิธีการ Price Cap แล้ว ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังเตรียมเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดรายการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ใช้บริการขั้นเริ่มต้น (Entry-level Product) สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่มาพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ การกำหนดรายการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ใช้บริการขั้นเริ่มต้นนั้น ก็เพื่อส่งเสริมการใช้บริการโทรคมนาคมให้กับผู้ที่ไม่เคยใช้งานหรือผู้มีรายได้น้อย โดยในเบื้องต้นสำนักงาน กสทช. อาจใช้แนวทางเลือกโปรโมชั่นที่ถูกที่สุดของผู้ให้บริการมาเป็นรายการส่งเสริมการขายขั้นเริ่มต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่ารายการส่งเสริมการขายดังกล่าวอาจไม่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้มากนัก
วาระการแก้ประกาศเรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เสนอที่ประชุม กทค. เพื่อขอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขประกาศ กทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ให้เป็นร่างประกาศ กสทช. โดยประกาศ กทช. ดังกล่าวมีการกำหนดให้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับใบอนุญาตหากมีการซื้อผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมของผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการทักท้วงจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่าข้อกำหนดดังกล่าวอาจขัดกับความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (GATT) และความตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า (TRIMs) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)
การพิจารณาแนวทางการปรับปรุงประกาศของ กทค. ในวาระนี้ นอกจากต้องพิจารณาในประเด็นที่มีการทักท้วงเรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่อาจขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแล้ว สิ่งที่ กทค. สมควรพิจารณาและให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแก้ไขประกาศฉบับนี้ด้วย คือส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่สร้างผลตอบแทนต่ำ แต่ให้ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมสูง เช่น เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีเพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเทคโนโลยีประเภทดังกล่าวจะเผชิญกับปัญหาการลงทุนเนื่องจากมีผลตอบแทนต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนเทคโนโลยีเพื่อการค้าที่มีลักษณะที่ให้ผลตอบแทนสูงอยู่แล้ว ก็อาจไม่มีความจำเป็นสำหรับการสนับสนุนมากนัก เนื่องจากภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีไปได้เอง