กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--คิดดี ครีเอชั่น
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และธนาคารออมสิน พัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยพัฒนางานด้านห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาคลินิก และงานเวชกรรมฟื้นฟูให้ได้มาตรฐานสากล ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2554 มั่นใจโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งสามารถเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้เรื่องการเก็บสิ่งส่งตรวจให้แก่ห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพ และสามารถวางแผนรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างทันท่วงที
น.พ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ธันวาคม 2554 มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และธนาคารออมสิน ได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศ โดยเน้นการพัฒนางานห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาคลินิก และงานเวชกรรมฟื้นฟูเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดทำเป็นโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2557 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารออมสินจำนวน 84 ล้านบาท มีเป้าหมายให้ประชาชนในเขตชนบทในพื้นที่ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ได้รับบริการตรวจวินิจฉัยจากห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาคลินิก และรับบริการงานเวชกรรมฟื้นฟูที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา เช่นเดียวกับประชาชนในเขตเมือง โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการพัฒนางานห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาคลินิก ให้มีการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO 15189 ปี 2012 เพื่อให้สามารถตรวจวินิจฉัย ติดตามผลการรักษา ประเมินสุขภาพ ควบคุมและป้องกันโรค ให้ผู้รับบริการมั่นใจว่าผลการวิเคราะห์และการบริการของห้องปฏิบัติการถูกต้องตามหลักวิชาการ แม่นยำ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันแพทย์สามารถนำไปวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการพัฒนางานเวชกรรมฟื้นฟู ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ โดยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานด้านเวชกรรมฟื้นฟู ตลอดจนการฝึกปฏิบัติให้แก่บุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อพัฒนามาตรฐานการให้บริการแก่คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ในการปฏิบัติงานเชิงรุก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยังได้รับการสนับสนุนรถออกหน่วยบริการเคลื่อนที่พร้อมทั้งอุปกรณ์จากธนาคารออมสิน เพื่อใช้ในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยาคลินิกและงานเวชกรรมฟื้นฟูให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อออกให้บริการเชิงรุกและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ไม่สามารถเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาลได้
น.พ.อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2554 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับมอบหมายงานพัฒนาห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยาคลินิกให้แก่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO 15189 ปี 2007 ต่อมาในปี 2557 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร วันที่ 28 กรกฎาคม 2557 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีบันทึกปฏิญญาความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากลของเครือข่ายห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อพัฒนาขีดความสามารถไปสู่การเป็นที่พึ่งของชุมชนที่มีคุณภาพและมาตรฐานบริการ โดยมุ่งสู่การรับรองระบบบริหารคุณภาพมาตรฐานสากล ล่าสุดคือ ISO 15189 ปี 2012 และ ISO 15190 ปี 2003 ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่ง ด้วยความสำนึกที่จะถวายพ่อหลวงของพสกนิกรชาวไทย เพื่อแบ่งเบาภารกิจของพระองค์ท่านแล้ว ยังเป็นการแสดงความจงรักภักดี เพื่อสนองพระราชปณิธานแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 63 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2558 นี้อีกด้วย
ปัจจุบันห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาคลินิกของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งสามารถให้บริการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะตรวจวินิจฉัยคัดกรองโรคเบื้องต้นได้มากกว่า 40 รายการ อีกทั้งยังสามารถทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติในการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจได้อย่างถูกวิธีและมีคุณภาพโดยเฉพาะตัวอย่างเชื้อต้องสงสัยโรคติดต่อร้ายแรง ที่ต้องเน้นเรื่องของคุณภาพของสิ่งส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างเสมหะที่ถูกต้อง ทั้งการควบคุมอุณหภูมิ การส่งต่อที่ดี ซึ่งจะช่วยให้ห้องปฏิบัติการสามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และช่วยให้แพทย์สามารถนำไปวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งการพัฒนาของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน