กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เชิญชวนประชาชนให้ ลด ละ เลิก เหล้า ช่วงเข้าพรรษา "รักกันจริงไม่พึ่งพิงสุรา" เพื่อคนที่คุณรัก โดยได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการดื่มสุรา ว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 54.8 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุรา ถึง 17.7 ล้านคน (ร้อยละ 32.3) ผู้ชายมีอัตราการดื่มสุราสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า กลุ่มวัยทำงาน (25-59 ปี) มีอัตราการดื่มสุราสูงกว่ากลุ่มอื่น และจากการสอบถามครอบครัวที่มีสมาชิกดื่มสุรา เมื่อปี 2554 พบว่า ร้อยละ 36.6 มีปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และหรือปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว สามีที่ดื่มเหล้ามีการทำร้ายภรรยาถึงร้อยละ 19.2 สูงกว่าในกลุ่มสามีที่ไม่ดื่มถึง 3 เท่า (ร้อยละ 6.8) ซึ่งสะท้อนได้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีความสัมพันธ์กับการดื่มสุรา และปฏิเสธไม่ได้ว่า สุรา คือ ตัวการสำคัญที่ทำลายความรัก และสายสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว ดังเห็นได้จากการปรากฏเป็นข่าวการทำผิดคดีอาญาหรืออาชญากรรมร้ายแรงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่เกิดขึ้นในครอบครัวและสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อการควบคุมอารมณ์และสติสัมปชัญญะ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การดื่มสุราก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพในเชิงลบมากกว่าเชิงบวกหลายสิบเท่า ซึ่ง จากการรายงานของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ในปี 2556 พบว่า ภาระโรคที่สำคัญจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย คือ ปัญหาสุขภาพจิต คิดเป็นร้อยละ 56 รองลงมา คือ บาดเจ็บ (ร้อยละ 23) และเป็นโรคตับแข็ง (ร้อยละ 9) ทั้งนี้การดื่มสุราจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและทำร้ายตนเอง ดื่มแล้วไม่รู้ตัวว่ามีปัญหา ดื่มจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและคนรอบข้าง โดยเฉพาะเด็กที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ปกครองที่ดื่มสุราจะต้องรองรับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่ายของพ่อและแม่ตอนเมา เช่น การตวาด และขว้างข้าวของ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ จะทำให้เด็กเครียดและมีความวิตกกังวลจนกลายเป็นคนขี้โมโห ซึมเศร้าง่าย รู้สึกอับอาย โดดเดี่ยว ขาดที่พึ่ง และขาดความภูมิใจในตนเอง เด็กๆ ที่เติบโตขึ้นมากับสิ่งเหล่านี้ จะถูกส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นวงจรปัญหาซ้ำซาก และวนเวียนปัญหาต่อไปอีกไม่สิ้นสุด
ด้าน นพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ รักษาการ ผอ.รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2554แนวโน้มของนักดื่มชายลดลงเล็กน้อย หรือ เฉลี่ยร้อยละ 0.45 ต่อปี แต่สำหรับนักดื่มหญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.1ต่อปี เช่นเดียวกับแนวโน้มการดื่มของเยาวชน อายุ 15-24 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ในระยะเวลาสิบปี หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1ต่อปี โดยในแต่ละปี ประเทศไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่นักดื่มเหล่านี้ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออายุประมาณ 14 ปี ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของ รพ.สวนปรุง ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งพัฒนาองค์กร สู่ความเป็นเลิศด้านการบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกอฮอล์ พบว่า ภาพรวมของผู้ที่เข้ามารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกอฮอล์แบบผู้ป่วยในไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับพบ กลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 15-24 ปี เข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้น ในปี 2555 มีจำนวน 13 คน ปี 2556 และ 2557 มีจำนวน 17 คนเท่ากัน ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของเยาวชน ได้แก่ การเปิดรับสื่อ การเติบโตในครอบครัวที่มีนักดื่ม อิทธิพลของเพื่อน บริบทในชุมชนที่มีการดื่มมาก ค่านิยมทางสังคม และความยากง่ายในการซื้อหรือการเข้าถึง จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะเยาวชนที่ดื่มสุราจะมีความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงหรือการถูกทำลายของสมองมากกว่า และคงอยู่ติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ อายุที่เริ่มดื่มจึงมีความสำคัญต่อปัญหาความผิดปกติที่จะตามมา โดยเฉพาะ โรคจิตเวชที่เกิดจากการดื่มสุรา เช่น โรคจิต โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ปัญหาด้านการนอน ปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ โรคความจำบกพร่อง และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งการรักษาจะมีหลายประเภทตามความรุนแรงของโรค เช่น การรักษาแบบจิตสังคมบำบัด การรักษาเพื่อถอนพิษสุราและการบำบัดรักษาเพื่อป้องกันการกลับไปติดซ้ำ หรือ การรักษาด้วยยา ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราหรือต้องการเลิกสุรา สามารถเข้ามารับบริการตรวจรักษาหรือปรึกษาได้ที่ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ตลอดจนขอคำปรึกษาได้ทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง