สพฉ. เร่งพัฒนามาตรฐานรถพยาบาลฉุกเฉิน กำหนดให้รถพยาบาลทุกคัน ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยงทั้งสำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อลดความสูญเสีย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 29, 2015 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ บุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ถือเป็นบุคลากรที่มีค่าที่สุด เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดชีวิต แต่จากการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา พบว่ามีรถพยาบาลฉุกเฉิน ประสบอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินต้องบาดเจ็บ เสียชีวิตและพิการอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลโรงพยาบาลบ้านใหม่ไชยพจน์ ขณะนำผู้ป่วยส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำให้เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ เสียชีวิต นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากการสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุ พบว่าสาเหตุที่ทำให้อุบัติเหตุมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากการไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ดังนั้นจะต้องมีการปรับสภาพของรถพยาบาลฉุกเฉินทั้งในส่วนห้องคนขับ ห้องโดยสาร อุปกรณ์ที่เสริมความปลอดภัยภายนอกรถ รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็น ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สพฉ. ได้ให้ความสำคัญ และกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยของ รถพยาบาลฉุกเฉิน กรณีที่เป็นรถตู้หรือรถปฏิบัติการชั้นสูง ไว้ ดังนี้ 1.รถที่ดัดแปลงจะต้องเป็นไปตามหลักของวิศวกรรมยานยนต์ และได้รับการรับรองจากกรมขนส่งทางบก 2.สีรถต้องเป็นสีขาว ติดแถบสะท้อนแสงตามมาตรฐานของ สพฉ. 3.อายุการใช้งานไม่เกิน 500,000 กิโลเมตร หรือใช้งานไม่เกิน 7 ปี หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัด 4.มีเอกสารผ่านการตรวจสอบจากกรมขนส่งทางบก 5.มีเครื่องมือช่างประจำรถตามมาตรฐาน 6.ควรมีแบตเตอรี่ 2 ก้อน แยกระหว่างไฟรถ และไฟสำหรับอุปกรณ์เสริม และ 7.ยางรถไม่ควรเกิน 2 ปี นอกจากนี้ในรถจะต้องมีไฟส่องสว่างเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน มีอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น ถุงมือ ผ้ายางกันเปื้น หมวก แว่นตา เป็นต้น “สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อลดความสูญเสีย จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง ทั้งสำหรับตัวผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วย คือ ต้องมีอุปกรณ์ยึดตรึง หรือเข็มขัดนิรภัย เพื่อป้องกันอันตรายกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องหยุดรถกระทันหัน โดยมีเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ป่วย 5 จุด คือ ไหล่ 2 จุด ลำตัว 3 จุด ส่วนผู้ปฏิบัติงาน ที่นั่งเก้าอี้หันข้าง ต้องมีเข็มขัดนิรภัยคาดเอว และเก้าอี้หันหน้า จะต้องมีเข็มขัดนิรภัยแบบคาด 3 จุด” นพ.อนุชากล่าว นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผู้ขับรถพยาบาลเอง จะต้องปฏิบัติตามกฎจราจรด้วย โดยขับรถตามอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนด และเมื่อขับผ่านทางแยกจะต้องไม่ใช้ความเร็วเกิน ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงระดับใด และหากจำเป็นต้องขับรถย้อนศร ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในขณะจอดรถเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ จะต้องเปิดไฟฉุกเฉิน วางกรวยยางจราจรเป็นระยะ ห่างจากจุดเกิดเหตุ 15 เมตร และบุคลากรทุกคนที่ออกปฏิบัติงานต้องแต่งตัวด้วยชุดสะท้อนแสง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้อน อย่างไรก็ตามรถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันจะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานเป็นประจำทุกปีด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ