กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "พุทธศาสนิกชนกับการรับรู้ถึงความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2558 กรณีศึกษาจากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการรับรู้ถึงความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาของพุทธศาสนิกชน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่า ความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการรับรู้ของประชาชนถึงความสำคัญในทางพุทธศาสนาของ "วันอาสาฬหบูชา" พบว่า พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.36 ไม่ทราบว่า วันอาสาฬหบูชามีความสำคัญทางพุทธศาสนาอย่างไร ขณะที่ ร้อยละ 30.64 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือน ก.ค. 2557 พบว่า มีสัดส่วนผู้ที่ทราบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ท้ายสุด เมื่อถามถึงการรับรู้ของประชาชนถึงความสำคัญในทางพุทธศาสนาของ "วันเข้าพรรษา" พบว่า พุทธศาสนิกชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.36 ทราบว่า วันเข้าพรรษามีความสำคัญทางพุทธศาสนาอย่างไร ขณะที่ ร้อยละ 44.64 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือน ก.ค. 2557 พบว่า มีสัดส่วนผู้ที่ทราบไม่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 16.24 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 17.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.16 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 50.32 เป็นเพศชาย ร้อยละ 49.60 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 9.92 มีอายุ น้อยกว่า 25 ปี ร้อยละ 18.56 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.80 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.00 มีอายุ 46 – 60 ปี ร้อยละ 11.60 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 100.00 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 23.52 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 73.20 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.08 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 37.84 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.56 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.36จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 16.00 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 2.64 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุระดับการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 6.64 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 12.00 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่าง ร้อยละ 21.04 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 17.60 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 20.16 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 17.12 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ตัวอย่างร้อยละ 3.84 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 18.40 ไม่มีรายได้ ตัวอย่าง ร้อยละ 31.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 28.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 7.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 3.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 5.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 5.92 ไม่ระบุรายได้