กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--PwC ประเทศไทย
PwC เผยผลสำรวจองค์กรต้องปรับโครงสร้างไอทีใหม่ เพื่อรับมือกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยพลิกบทบาทจากงานซับพอร์ตมาเป็นที่ปรึกษาของธุรกิจ ช่วยวางกลยุทธ์ กำหนดทิศทางการลงทุนด้านไอที เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง พร้อมแนะวิธีปรับโครงสร้างใหม่ของฝ่ายไอทีในยุคดิจิทัลต้องเชื่อมโยงข้อมูลทั้งองค์กร มีความคล่องตัวและการบริหารจัดการที่ดี ชี้ธุรกิจไทยยังไม่ตื่นตัวลงทุนด้านไอทีเท่าที่ควร เพราะขาดความเข้าใจศักยภาพของไอทีในการเข้ามาช่วยขยายขีดความสามารถและเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผย ถึงผลสำรวจ Reinventing Information Technology in the Digital Enterprise | PwC's New IT platform: Achieve High Velocity IT in a Digital World ว่า ปัจจุบันธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากเมกะเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ การเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆ สังคมโลกาภิวัตน์ การแข่งขัน และอื่นๆ ดังนั้นผู้บริหารของแต่ละองค์กรต้องหันมาทบทวนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างการบริหารงานของตัวเอง โดยเฉพาะโครงสร้างไอทีที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อรับมือนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งองค์กรที่คิดต่าง มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ดีกว่า จะเป็นกุนซือทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในโลกยุคดิจิทัลมากที่สุด
"เรามองว่า บทบาทการทำงานของไอทีจะเปลี่ยนไปจากอดีต โดยหันมาทำหน้าที่เป็นเหมือนที่ปรึกษา หรือ นายหน้าที่เข้าใจสายงานธุรกิจต่างๆภายในองค์กร และมีส่วนช่วยผลักดันกำหนดแนวทางและแผนธุรกิจให้เป็นไปในรูปแบบดิจิทัลทั่วทั้งองค์กรมากขึ้น แทนที่จะเป็นเหมือนหน่วยงานตรงกลางที่คอยแก้ปัญหาด้านไอทีเพียงอย่างเดียว" นางสาว วิไลพรกล่าว
ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 18 ยังระบุว่า ซีอีโอทั่วโลกต่างตระหนักดีว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะเข้ามากำหนดวิถีการดำเนินธุรกิจในอนาคต ดังนั้น พวกเขาต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาด อีกทั้งยังต้องการจะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลักในการต่อยอดทางธุรกิจ ลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า โดยหาวิธีการและแนวคิดด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งซีอีโอถึง 88% ที่ทำการสำรวจต่างเชื่อว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในองค์กรได้ในระดับสูง
นางสาววิไลพร กล่าวเสริมว่า 3 ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินหน้าไปสู่การเป็นองค์กรในโลกดิจิทัล (Digital Enterprises) ขึ้นอยู่กับ 1. สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน (Operating Environment) ที่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ 2. การตอบสนองเชิงกลยุทธ์ต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆของธุรกิจ (Strategic Responsiveness) 3. ความยืดหยุ่นและการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆอย่างรวดเร็วขององค์กร (Organisational Flexibility)
แพลตฟอร์มไอทียุคดิจิทัล
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างพื้นฐานไอทีใหม่ ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ดี ต้องอาศัยหลักการของการทำงานร่วมกันของทั้งไอทีและธุรกิจในการสร้างมูลค่า และเป็นเหมือนพลวัตที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆครอบคลุมทั้งในแง่ของกระบวนการและคนในองค์กรที่ต้องตระหนักรู้ถึงบทบาทและการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เริ่มตั้งแต่การวางกลยุทธ์ไปจนถึงการปฏิบัติงานให้สัมฤทธิ์ผล (Strategy through execution)
PwC มองว่าแพลตฟอร์มไอทีในโลกธุรกิจยุคดิจิทัล ควรประกอบด้วย
1. พลิกบทบาทเป็นกุนซือของธุรกิจ (The Mandate: broker of services) ต่อไปงานด้านไอทีหรือเทคโนโลยีในองค์กรจะเปลี่ยนผ่านจากการรวมศูนย์งานระบบไอที ที่ช่วยสนับสนุนงานภาคธุรกิจอื่นๆ มาเป็นเหมือนผู้ช่วยสั่งการ ที่นอกจากจะต้องดูแลงานไอทีแล้วยังต้องสามารถให้คำปรึกษา คำแนะนำกับผู้บริหารในการวางยุทธศาสตร์การลงทุนด้านไอที สามารถประเมินตลาด นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ภายในองค์กร เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ
2. ปรับกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น (The Process: assemble-to-order and DevOps) ในโลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ องค์กรต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานไอทีแบบเดิมๆให้มีความรวดเร็วสูง (High Velocity IT) โดยยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ ความปลอดภัย ระบบการควบคุมที่รัดกุม และตอบสนองความต้องการขององค์กร พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทจัดการไอทีบางราย ยังมีการนำแนวคิดที่เรียกว่า DevOps หรือ วิธีการทำงานในองค์กรที่ช่วยส่งเสริมให้มีการประสานงานกันระหว่างทีมงานต่างๆทั้งฝ่ายที่มีส่วนในการทดสอบและพัฒนาแอพพลิเคชั่น กับฝ่ายที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานดูแลการใช้งานแอพมาใช้
3. เชื่อมโยงระบบโครงสร้างองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว (The Architecture: a secure integration fabric) โดยโครงสร้างไอทีรูปแบบใหม่ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยง Endpoint ต่างๆ (อาทิ แอพพลิเคชั่น กระบวนการ ระบบ และฐานข้อมูลทั้งหมดขององค์กร) ไว้ที่เดียวกัน โดยที่ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร จะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้จากที่ใด เมื่อไหร่ ผ่านรูปแบบหรืออุปกรณ์สื่อสารใดก็ได้ ในระบบเรียลไทม์ (Integration Fabric)
4. บริการอย่างมืออาชีพ (The Organisation: professional services structure) เมื่อบทบาทของไอทีต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมให้เป็นเหมือนที่ปรึกษาทางธุรกิจมากขึ้น องค์กรจึงจำเป็นต้องอาศัยคนที่มีทักษะที่ผสมผสานทั้งด้านดิจิทัล (Digital Skill) และมีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด รวมทั้งมีความสามารถวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบก่อนตัดสินใจทางธุรกิจได้
5. ปรับรูปแบบการบริหารจัดการไอทีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ (The Governance Model: empowering governance) การกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ต้องสอดคล้องกับการบริหารจัดการองค์กรทั้งระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน โดยกฎระเบียบต่างๆ จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันและมีคำแนะนำที่ชัดเจน ซึ่งกฎระเบียบเหล่านี้จะถูกกำหนดร่วมกันระหว่างฝ่ายไอทีและผู้ใช้บริการ
"หัวใจสำคัญของการปรับโครงสร้างไอทีให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลที่สำคัญไม่แพ้กันอีกข้อ คือ การที่บริษัทต้องมี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ หรือ CIO ที่สามารถผลักดันให้ผู้บริหารขององค์กร ตระหนักถึงความสำคัญของดิจิทัลและช่วยให้องค์กรวางกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารในองค์กรของทุกฝ่าย รวมทั้ง CMO เพื่อไม่ให้เสียเปรียบในการแข่งขัน" นางสาว วิไลพร กล่าว
นางสาววิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประเทศไทย เวลานี้องค์กรต่างๆ ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้นในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจถึงศักยภาพและผลตอบแทนที่แท้จริงของการลงทุนทางด้านไอที หรือการประยุกต์ใช้ไอทีในการขยายธุรกิจ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างถ่องแท้ หากธุรกิจต่างๆ ยังไม่หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านไอทีอย่างเหมาะสม มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ประกอบการบางรายอาจตามเพื่อนบ้านที่มีความก้าวหน้าด้านไอทีกว่าไทยไม่ทัน หากเปิดเออีซีปลายปีนี้