กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กรมประมง
นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นของเครื่องมือทำการประมงและเครื่องบางชนิดยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธภาพสูงในการจับสัตว์น้ำได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงเล็กซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ เป็นเหตุให้สภาวะทรัพยากรประมงทะเลอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม อีกทั้ง การเพิ่มของจำนวนเครื่องมือประมงก็ไม่สมดุลกับพื้นที่ทำการประมงในทะเลน่านน้ำไทยที่มีจำนวนเพียง 420,280 ตารางกิโลเมตร และยังไม่มีการกำหนดพื้นที่ทำการประมงในแต่ละชนิดเครื่องมือของกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ จึงทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทำการประมงซ้อนทับกันและแย่งชิงพื้นที่ทำการประมงในหลายเครื่องมือ ทำให้เกิดเป็นข้อขัดแย้งซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง ยังไม่มีการกำหนดจำนวนและขนาดของเครื่องมือประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาแนวทางในการดำเนินการให้ชัดเจน ประกอบกับทาง ศปมผ. ได้มีมติให้กรมประมงร่วมกับสมาคมการประมงต่างๆ รับฟังความคิดเห็นของชาวประมงในแต่ละพื้นที่ และสรุปผลเสนอ ศปมผ.ภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2558
ดังนั้น กรมประมง จึงได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางการใช้จำนวนเครื่องมือประมงที่เหมาะสมในแต่ละเขตพื้นที่ทำการประมง" ในระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2558 ดังนี้
· ครั้งที่ 1 วันที่ 3 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมวีวาร์ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะมีชาวประมงจาก จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส เข้าร่วม
· ครั้งที่ 2 วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ณ ร้านท่าเรือภัตตาคารรับลมซีฟู๊ด จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะมีชาวประมงจาก จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี เข้าร่วม
· ครั้งที่ 3 วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร ซึ่งจะมีชาวประมงจาก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎ์ธานี เข้าร่วม
· ครั้งที่ 4 วันที่ 5 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมเคพีแกรนด์ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งจะมีชาวประมงจาก จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เข้าร่วม
· ครั้งที่ 5 วันที่ 5 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมบุญสยาม จังหวัดกระบี่ ซึ่งจะมีชาวประมงจาก จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล เข้าร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงเกี่ยวกับการเกี่ยวกับการกำหนดขนาด จำนวนของเครื่องมือ และเขตทำการประมงที่เหมาะสมใช้เครื่องมือประมงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีการนำข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับชนิด จำนวนเครื่องมือที่ใช้ เขตทำการประมง และสภาวะทรัพยากรประมงทะเลในปัจจุบัน แสดงแก่กลุ่มชาวประมง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดข้อขัดแย้งการแย่งชิงพื้นที่ทำการประมงและบริหารจัดการทรัพยากรประมงเพื่อให้การลงแรงประมงอยู่ในระดับที่เหมาะสมทำให้ได้ผลจับสัตว์น้ำสูงขีดที่ยั่งยื่น (Maximum Sustainable Yield : MSY) ต่อไป
ทั้งนี้ กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดสัมมนาในครั้งนี้ จะมีส่วนสนับสนุนให้ชาวประมงมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และให้ความร่วมมือกับทางราชการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันให้ทั่วโลกได้เห็นว่าประเทศไทยของมุ่งมั่นที่จะขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย อธิบดีกรมประมง...กล่าว