กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
ความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยี ทำให้ "คนทำงาน" มีเครื่องไม้เครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น มัลติโรเตอร์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "โดรน" ซึ่งมีลักษณะเป็นอากาศยานชนิดหนึ่ง เคลื่อนที่ไปในอากาศได้ โดยไม่มีนักบินหรือผู้ควบคุมอยู่บนตัวเครื่อง แต่ใช้การบังคับควบคุมจากภายนอก ในปัจจุบันมัลติโรเตอร์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย และใช้งานกันมากยิ่งขึ้น
กลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำโดย ทัวร์ - อภิสิทธิ์ ถาวร , ฟิล์ม - กิจมณธา แสงแก้ว และโอ๊ค - เกษตร จันทมาศ จึงรวมตัวกันสร้าง "มัลติโรเตอร์สำหรับการสำรวจ" เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านการสำรวจพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ โดยมี อาจารย์กิตติ จุ้ยกำจร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัครวุฒิ ปรมะปุญญา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
"ในปัจจุบันการเกิดภัยธรรมชาติในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การเกิดพายุหมุนเขตร้อน การเกิดแผ่นดินไหว การเกิดอุทกภัย เป็นต้น ซึ่งภัยธรรมชาติเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบโดยตรงแก่ผู้ที่ประสบภัยธรรมชาติ ทำให้ผู้ประสบภัยธรรมชาติต้องการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างล่าช้า คณะผู้จัดทำจึงได้คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในด้านการสำรวจพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ โดยทำการปรับปรุงมัลติโรเตอร์จากระบบการบังคับด้วยมือเปลี่ยนเป็นมัลติโรเตอร์สำหรับการสำรวจ โดยเพิ่มความสามารถของมัลติโรเตอร์ให้มีความชาญฉลาดเพิ่มมากขึ้น คือ ระบบนำร่องการบินด้วยสัญญาณจีพีเอส ระบบบันทึกภาพหรือวิดีโอที่ตำแหน่งปลายทางโดยปราศจากการควบคุมจากคน ระบบจัดเก็บข้อมูลตำแหน่งจีพีเอสปลายทาง ระบบส่งตำแหน่งพิกัดจีพีเอสปลายทางไปยังมัลติโรเตอร์" กิจมณธา กล่าว
โครงสร้างมัลติโรเตอร์ ประกอบด้วย (1) สปีดคอนโทรลมอเตอร์ ซึ่งมีสายไฟและสายรับสัญญาณทำหน้าที่รับสัญญาณจากอุปกรณ์ควบคุมส่งแล้วส่งผ่านไปยังมอเตอร์บัสเลส (2) มอเตอร์บัสเลส ทำหน้าที่รับสัญญาณจากส่วนของสปีดคอนโทรลมอเตอร์ แล้วส่งค่าการหมุนของมอเตอร์เพื่อนำมัลติ โรเตอร์เคลื่อนที่ไปยังสถานที่ที่กำหนด (3) ชุดควบคุมการบิน (4) โมดูลจีพีเอส ทำหน้าที่รับค่าตำแหน่งจากดาวเทียมเพื่อแสดงพิกัดของจีพีเอส ณ ปัจจุบัน และส่งข้อมูลตำแหน่งพิกัดจีพีเอสที่ได้ไปให้ในส่วนของชุดควบคุมการบินประมวลผล (5) ภาครับสัญญาณจากรีโมท และ (6) แหล่งจ่ายไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม-โพลิเมอร์
กิจมณธา อธิบายว่า การประกอบมัลติโรเตอร์ ทำโดยต่อสายชุดควบคุมการบินเข้ากับส่วนของภาครับสัญญาณจากรีโมท ต่อสายชุดควบคุมการบินเข้ากับส่วนของสปีดคอนโทรลมอเตอร์ ต่อสาย สปีดคอนโทรลมอเตอร์กับมอเตอร์บัสเลส และต่อสายโมดูลจีพีเอสเข้ากับชุดควบคุมการบิน และต่อสายการจ่ายไฟฟ้าเข้ากับส่วนของสปีดคอนโทรลมอเตอร์และส่วนของชุดควบคุมการบิน
"ขั้นตอนการทำงานของมัลติโรเตอร์สำหรับการสำรวจนี้ เริ่มต้นโดยเจ้าหน้าที่จะค้นหาพิกัดตำแหน่งจีพีเอสต้นทางและตำแหน่งพิกัดจีพีเอสปลายทางจากระบบจัดการข้อมูลและประมวลผล จากนั้นกรอกข้อมูลในระบบเพื่อคำนวณระยะทางทั้งหมด จากตำแหน่งต้นทางไปยังตำแหน่งปลายทาง คำนวณระยะเวลาในการเดินทางและคำนวณเวลาคงเหลือของแบตเตอรี่ เมื่อระยะทางทั้งหมดและเวลาคงเหลือของแบตเตอรี่ผ่านเงื่อนไขที่กำหนด ระบบจะสร้างเท็กซ์ไฟล์เพื่อที่จะอัพโหลดข้อมูลพิกัดจีพีเอสต้นทางและพิกัดจีพีเอสปลายทางให้กับมัลติโรเตอร์ เมื่อเจ้าหน้าที่อัพโหลดข้อมูลพิกัดจีพีเอสต้นทางและพิกัดจีพีเอสปลายทางให้กับมัลติโรเตอร์เรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะต้องนำมัลติโรเตอร์บินขึ้น จากนั้นให้เปลี่ยนโหมดการบินเป็นแบบอัตโนมัติ มัลติโรเตอร์ก็จะทำการบินไปยังตำแหน่งพิกัดจีพีเอส ปลายทางที่ตั้งค่าไว้ เมื่อถึงสถานที่ปลายทางมัลติโรเตอร์จะทำการถ่ายภาพ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจมัลติโรเตอร์จะบินกลับมายังสถานที่ต้นทาง" ตัวแทนกลุ่ม กล่าว
นวัตกรรมชิ้นนี้มีความสามารถในการสำรวจสถานที่ปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำการบินจากสถานที่ต้นทางไปยังสถานที่ปลายทาง และถ่ายภาพสำรวจสถานที่ปลายทางโดยมีค่าความคลาดเคลื่อนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และไม่มีข้อบกพร่อง นับเป็นนวัตกรรมเพื่อการสำรวจและเสริมสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้แก่นักศึกษา