สมองไหลกับช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday July 16, 1997 07:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ก.ค.--สวทช.
สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2534 มูลนิธิดำรง ลัทธิพิพัฒน์ ได้ริเริ่มและร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศไทย โดยเชิญนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีชาวไทยที่ทำงานในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรปและญี่ปุ่น มาประชุมร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาในสาขาที่ใกล้เคียงกันจากภาครัฐและบริษัทเอกชน
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมานั้น ผลจากการจัดประชุม "สมองไหลกลับ" (Reverse Brain Drain) ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการสร้างความตื่นตัวของนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศและในประเทศไทยเป็นอย่างมาก จนเป็นผลให้มีการจัดตั้งสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) ในประเทศญี่ปุ่น (ATPIJ) และในยุโรป (ATPER) ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานและผลจากการส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าว
เพื่อให้เกิดโครงการความร่วมมือจากสถาบัน มหาวิทยาลัยต่างๆ ด้านการแลกเปลี่ยนนักเรียนทุน การเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษการฝึกอบรม เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีนักวิทยาศาสตร์ไทยที่กลับมาทำงานในประเทศไทยอย่างถาวรหลายท่านในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งในภาครัฐและบริษัทเอกชนและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมและมีคุณภาพ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่ส่วนราชการ สถาบันการศึกษาของไทยและภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคต
ตั้งแต่ปี 2537 ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ซึ่งเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเป็นการแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโยีแห่งชาติ (สวทช.) และทบวงมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการ "ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก" โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งเป็นโครงการให้การสนับสนุนการผลิตงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอกให้ทันตามความต้องการของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตนักวิจัยปริญญาเอกในประเทศ จำนวน 25,000 คน ภายใน 25 ปีข้างหน้า
แต่ทว่า การผลิตบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถชักชวนนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์และความสามารถที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศให้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีทีทันสมัย สามารถนำมาใช้ติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ทั่วทุกมุมโลก เทคโนโลยีจะช่วยอำนวยความสะดวกทำให้ประหยัดเวลา งบประมาณและแรงงาน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางให้เสียเวลา ไม่ว่าจะอยู่แห่งไหนก็สามารถส่งข่าวสารข้อมูลไปถึงกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศได้รับทราบสถานภาพความก้าวหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของประเทศไทย และความต้องการกำลังคนในสาขาที่กำลังขาดแคลนของภาครัฐและบริษัทเอกชน อีกทั้งยังเป็นการระดมความคิดและกำลังของสมองนักวิชาชีพไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก เพื่อมาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาต่างๆ ตลอดจนหาแนวทางความช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างนักวิชาชีพไทยในต่างประเทศกับหน่วยงาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย มาร่วมกันให้แนวคิดแก่รัฐบาล ในการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานอันจะนำไปสู่การมีนโยบายระดับชาติและมาตรการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งสามารถชักนำนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในต่างประเทศที่มีความพร้อมกลับมาประเทศไทยเป็นการชั่วคราวและถาวร หรืออย่างน้อยก็ให้ความร่วมมือช่วยเหลือโดยการส่งข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันลงบนอินเทอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารไปทั่วโลก--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ