กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต
สนับสนุนการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้าว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การบริโภคและการลงทุนในประเทศ การขึ้นค่าแรงย่อมกระตุ้นอำนาจซื้อ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก กำลังซื้อของเศรษฐกิจภายในของไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง เห็นว่าควรปรับขึ้นอย่างน้อย 12-20 บาทเป็นค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานอัตราเดียวทั่วประเทศ หลังจากนั้นจึงค่อยดูอุปสงค์อุปทานตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ เสนอให้พบกันครึ่งทางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสองระดับ ระดับแรก เป็นค่าจ้างแรงงงานขั้นต่ำพื้นฐาน ปรับขึ้น 12-20 บาททั่วประเทศเท่ากัน หลังจากนั้นมาดูตามพื้นที่ต่างๆว่าควรปรับเพิ่มให้อีกเท่าไหร่จากค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน ค่าจ้างลอยตัวไม่ควรใช้กับระบบค่าแรงขั้นต่ำแต่ควรใช้กับระบบค่าจ้างทั่วไป หากนำมาใช้กับระบบค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น
อุตสาหกรรมที่ต้องเฝ้าติดตามปัญหาการเลิกจ้างมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์
ปัญหาแรงงานไทยอยู่ระดับ Tier 3 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยและภาพลักษณ์ของประเทศนำมาสู่การไม่ซื้อหรือคว่ำบาตรสินค้าไทยได้ อาจทำให้การส่งออกปีนี้ติดลบมากกว่า 3%
เวลา 10.30 น. 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นสนับสนุนการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้าว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การบริโภคและการลงทุนในประเทศ การขึ้นค่าแรงย่อมกระตุ้นอำนาจซื้อ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก กำลังซื้อของเศรษฐกิจภายในของไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง หากยกระดับกำลังซื้อนี้ด้วยการเพิ่มค่าจ้างได้ ก็จะมีผลไปต่อแรงงานนอกระบบสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย การกำหนดนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาให้เกิดดุลยภาพระหว่าง "ความสามารถในการแข่งขัน" และ "ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ" นอกจากนี้ยังมีประเด็นความสามารถในการจ่ายของนายจ้างก็ไม่เท่ากันอีกด้วย
ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ต้องอาศัยทั้ง "ลูกจ้าง" และ "นายจ้าง" ในการขับเคลื่อนการผลิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่มี "แรงงาน" ย่อมไม่มีสิ่งต่างๆที่เราเห็นอยู่ในโลกใบนี้เกิดขึ้น เพราะสิ่งต่างๆเกิดขึ้นด้วยการสร้างสรรค์จากแรงงานทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน หากปราศจากซึ่ง "ผู้ประกอบการ" ที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ เศรษฐกิจย่อมไม่พัฒนาเติบโต "ลูกจ้าง" และ "นายจ้าง" จึงเปรียบเหมือน "แขนขวา" และ "แขนซ้าย" ของระบบเศรษฐกิจ
การเพิ่มค่าจ้างโดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ (ซึ่งจ่ายให้แรงงานแรกเข้าไม่มีทักษะ) ก็ต้องพิจารณาหลายมิติ ทั้ง ความจำเป็นต่อการดำรงชีพ การคุ้มครองแรงงาน ค่าตอบแทนฝีมือการทำงาน ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและผลที่มีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ การปรับฐานค่าจ้างให้เป็นธรรม ต้องทำในระยะที่เศรษฐกิจเติบโตดีและอัตราการว่างงานต่ำ การผลักดันให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้าเป็นแนวทางที่ถูกต้องในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจซบเซาจึงต้องดูผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กด้วย ขณะนี้ได้มีการดำเนินการผ่านอนุกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประจำจังหวัดปรากฏว่า อาจไม่มีการขึ้นค่าจ้างในหลายพื้นที่ ซึ่งตนเห็นว่าควรปรับขึ้นอย่างน้อย 12-20 บาทเป็นค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานอัตรา
เดียวทั่วประเทศ หลังจากนั้นจึงค่อยดูอุปสงค์อุปทานตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ พิจารณาดูค่าครองชีพ พิจารณาความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑลเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เมืองศูนย์กลางท่องเที่ยว ควรจ่ายตามที่ฝ่ายองค์กรลูกจ้าง (คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน) ร้องขอที่ 360 บาท ตนเสนอให้พบกันครึ่งทางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสองระดับ ระดับแรก เป็นค่าจ้างแรงงงานขั้นต่ำพื้นฐาน ปรับขึ้น 12-20 บาททั่วประเทศเท่ากัน หลังจากนั้นมาดูตามพื้นที่ต่างๆว่าควรปรับเพิ่มให้อีกเท่าไหร่จากค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพและมีเงินออมบ้าง มีเงินดูแลครอบครับบ้าง จึงเสนอให้ปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำในช่วงระหว่าง 12-60 บาทเนื่องจากไม่ได้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมาเกือบ 3 ปีแล้ว
ค่าจ้างลอยตัวไม่ควรใช้กับระบบค่าแรงขั้นต่ำแต่ควรใช้กับระบบค่าจ้างทั่วไป ซึ่งระบบค่าจ้างทั่วไปขึ้นกับกลไกตลาดเป็นแบบลอยตัวอยู่แล้ว หากนำระบบลอยตัวมาใช้กับระบบค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น ระบบค่าจ้างลอยตัวที่ต้องการให้นายจ้างแข่งขันกันเสนอราคาและลูกจ้างจะสามารถเลือกนายจ้างที่ตนเองพอใจทำงานด้วยเป็นแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานตลาดแรงงานเสรีซึ่งเหมาะสมกับระบบการกำหนดค่าจ้างทั่วไป ไม่ใช่ค่าแรงงานขั้นต่ำ เพราะหลักคิดของระบบค่าแรงขั้นต่ำต้องการคุ้มครองแรงงาน เพราะแรงงานแตกต่างจากสินค้าอื่นๆในระบบเศรษฐกิจ และเกี่ยวกับความอยู่รอดและคุณภาพของชีวิตของคนงานและครอบครับ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมด้วยไม่สามารถกำหนดจากอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงานอย่างเดียว อีกประการหนึ่งลูกจ้างมีอำนาจต่อรองน้อย และอัตราการรวมตัวของลูกจ้างเป็นสหภาพแรงงานในประเทศไทยต่ำมาเพียงแค่ 1.5% ของกำลังแรงงาน สะท้อน ระดับความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสถานประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานประกอบการมากขึ้น รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การจ้างงานและเลิกจ้างจากการวิเคราะห์ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า แม้นมีสถานการณ์เลิกจ้างเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาอันเป็นผลจากอัตราการขยายตัวติดลบภาคส่งออก แต่แรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะแรงงานมีทักษะยังคงหางานใหม่ทำได้เนื่องจากอัตราการว่างงานโดยรวมยังต่ำ และคาดว่าการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำปีหน้าหากปรับในระดับที่นายจ้างมีศักยภาพจ่ายได้จะไม่มีผลต่อการจ้างงานในระยะสั้นและไม่มีผลกระทบให้มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น ประเด็นเรื่องการเลิกจ้างหรือว่างงานจะเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจซบเซามากกว่า
ในระยะยาว โครงสร้างภาคการผลิตไทยจะใช้แรงงานลดลง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นลดลง จะมีการใช้เทคโนโลยี ระบบไอทีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ทำให้ขีดความสามารถของกิจการดีขึ้นและต้องปรับเปลี่ยนคนงานให้เป็น คนงานที่มีความรู้สูงขึ้น (Knowledge Worker) มีผลิตภาพสูงขึ้น (Higher Productivity) มีมาตรฐานแรงงานดีขึ้น (Better Labour Standard) และ คุณภาพชีวิตดีขึ้น (Better Quality of Life)
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมที่ต้องเฝ้าติดตามปัญหาการเลิกจ้างมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เนื่องจากโรงงาน ปั่นด้ายเคหะสิ่งทอปิดตัวลง 6 โรง เพราะคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศที่เคยสั่งซื้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย และโดนเวียดนามแย่งตลาดไปหมด ส่วนภาพรวมการเลิกจ้างพบสถานการณ์เลิกจ้างยังไม่ถึงเกิดวิกฤติเลิกจ้างแต่ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อก่อให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงาน
อุตสาหกรรมสิ่งทอในเดือนมิถุนายน มีการว่างงานขยายตัวร้อยละ 23.27 และการเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 135.19 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากกลุ่มสิ่งทอมีการจำหน่ายชะลอตัวตามการผลิตในกลุ่มปลายน้ำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เส้นใยฯ และผ้าผืน จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับเวียดนามลดการนำเข้าผ้าผืนจากไทย
อุตสาหกรรมเครื่องประดับมีการการเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 28.24 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้นมีการเลิกจ้างในอัตราสูง แต่ก็มีการขยายตัวของการจ้างด้วยทำให้โดยภาพรวมสามารถดูดซับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้ เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักยังขยายตัวได้ดีไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สหรัฐอเมริกา รวมถึงตลาดอาเซียนบางประเทศ
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการจ้างงานจำนวน 115,195 คน จากข้อมูลศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ณ เดือนมิถุนายน 2558 สถานการณ์การเลิกจ้างโดยภาพรวม ณ. เดือนมิถุนายน พบว่า มีผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 6,340 คน (มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 9.86%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตรา 5,771 คน ดังนั้น ณ เดือนมิถุนายน 2558 สถานการณ์เลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วงและถือว่าการเลิกจ้างอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากการ เลิกจ้างมีอัตราการเติบโต 9.86% ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างก็สามารถหางานได้ในเวลาไม่นานนักเนื่องจากอัตราการว่างงานโดยรวมของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมากไม่ถึง 2%
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต วิเคราะห์ถึงกรณีที่ไทยยังถูกจัดชั้นเรื่องปัญหาเรื่องแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier3 โดยสหรัฐอเมริกา ว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยและภาพลักษณ์ของประเทศนำมาสู่การไม่สั่งสินค้าและคว่ำบาตรสินค้าไทยได้ จึงต้องเร่งชี้แจงให้ดี อาจทำให้การส่งออกปีนี้ติดลบมากกว่า 3% ฉะนั้นต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล การรณรงค์ตอบโต้โดยการไม่ซื้อสินค้าสหรัฐอเมริกาจากกรณีดังกล่าวจะทำให้ปัญหาซับซ้อนและลุกลามมากขึ้นและเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ตรงประเด็น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาสอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้หากสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในปีหน้าได้ คาดว่าในปีหน้าประเทศไทยของเราน่าจะถูกยกอันดับให้ดีขึ้นอันเป็นผลบวกต่อสินค้าส่งออกของไทยและเศรษฐกิจโดยภาพรวม