กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผลประเมินเทียร์ 3 กับความพยายามของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง ผลประเมินเทียร์ 3 กับความพยายามของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,070 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2558
ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 54.2 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 29.4 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 7.4 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 8.1 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.9 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ผลสำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนกรณีที่ประเทศไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศเทียร์ 3 เรื่องการค้ามนุษย์นั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 45.1 ระบุรู้สึกวิตกกังวล โดยให้เหตุผลสามารถสรุปได้ว่า เกรงว่าต่างประเทศจะไม่ให้ความเชื่อมั่น กลัวเสียภาพลักษณ์ของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ เกรงว่าหากยื้ดเยื้อออกไป จะทำให้การแก้ไขปัญหายากลำบากกว่าเดิม เกรงว่าประเด็นดังกล่าวจะนำไปสู่ความขัดแย้งในกลุ่มประชาชนที่เห็นต่าง เป็นห่วงว่ารัฐบาลอาจจะท้อ และทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง รวมถึงอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากต่างประเทศ/อาจถูกกดดันอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนร้อยละ 54.9 ระบุไม่รู้สึกวิตกกังวล เพราะ มั่นใจว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ เห็นผลการดำเนินงานว่ามีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับอยู่แล้ว รัฐบาลพยายามเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวล เป็นเรื่องภายในประเทศ ที่ประชาชนทราบข้อมูลดี คิดว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว แก้ไขปัญหาถูกทางแล้ว แต่ปัญหามีความซับซ้อนต้องใช้เวลามากกว่านี้ ไม่เห็นว่าจะมีผลกระทบอะไรต่อรัฐบาล รัฐบาลยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไปได้ และเห็นว่าไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยประเทศเดียว
ทั้งนี้ผลการสำรวจยังพบว่าแกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย คือร้อยละ 97.6 ระบุเห็นด้วยต่อท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ออกมายอมรับผลการประเมินของประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ดังกล่าว และพร้อมที่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อไป ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 2.4 ระบุไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ผลการประเมินไม่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องยอมรับ/ผลการประเมินไม่ได้อ้างอิงข้อมูลจริง/ทำให้คนทำงานหมดกำลังใจ
เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามต่อไปถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลโดยภาพรวม ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 92.1 ระบุเห็นว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินงานดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 6.2 ระบุยังไม่เห็นความคืบหน้า และร้อยละ 1.7 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ได้สนใจติดตามเรื่องนี้
สำหรับผลสำรวจการรับรู้ของแกนนำชุมชนต่อการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์นั้น พบว่า ร้อยละ 86.7 ระบุรับรู้ต่อการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกประเภท เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รองลงมาคือร้อยละ 82.1 ระบุรับรู้ต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในการเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 81.3 ระบุรับรู้ต่อการมีส่วนร่วมของราชการส่วนท้องถิ่นและชุมชนในการป้องกัน เฝ้าระวัง และร่วมแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 80.1 ระบุรับรู้ต่อการจัดอบรมเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ร้อยละ 79.1 ระบุรับรู้ต่อการส่งเสริมกลไกชุมชนให้เข้มแข็งในการเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ และร้อยละ 75.1 ระบุรับรู้ต่อการปราบปรามผู้กระทำผิดและขบวนการอาชญากรรม ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนได้ระบุสิ่งที่เห็นว่าเป็นจุดอ่อนที่ทำให้การเดินหน้าแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยยังไม่สำเร็จดังต่อไปนี้ พบว่า ร้อยละ 82.8 ระบุการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ยังไม่เด็ดขาดพอ รองลงมาคือร้อยละ 79.3 ระบุไม่มีระบบติดตามผลการดำเนินคดี และคุ้มครองช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ร้อยละ 76.6 ระบุไม่มีการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มนายจ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 71.9 ระบุประชาชนยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 69.4 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจและไม่จริงจังในการคัดแยกเหยื่อของปัญหาการค้ามนุษย์ และร้อยละ 60.4 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนเรื่องการค้ามนุษย์
ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงความพร้อมในการเป็นกำลังใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้สำเร็จ พบว่า แกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย คือร้อยละ 99.1 ระบุพร้อมให้กำลังนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในขณะที่มีเพียง ร้อยละ 0.9 เท่านั้นที่ระบุไม่พร้อม ทั้งนี้ผลการสำรวจพบว่าคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยต่อรัฐบาลและคสช.ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เท่ากับ 8.29 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
?
คุณลักษณะทั่วไปของแกนนำชุมชนผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 88.3 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.7 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 9.3 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 31.8 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 58.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 33.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 47.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 4.7 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 15.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 71.1 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 18.2 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 10.7 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 20.1 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 20.8 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 24.9 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 34.2 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ